(เพิ่มเติม) ฟิทช์ให้อันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารทหารไทยที่ 'F1(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 30, 2010 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1(tha)' แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A+(tha)'/'F1(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มูลค่าไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีอายุไม่เกิน 270 วัน

อันดับของ TMB สะท้อนถึงเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนของ ING Bank NV (ING อันดับเครดิตที่ 'A+'/'F1+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ในเดือนธันวาคม 2550 ผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการที่ธนาคารจะกลับมาเน้นในด้านการขยายธุรกิจมากขึ้นหลังจากการปรับโครงสร้างการดำเนินงานที่มี ING มาร่วมด้วยเสร็จสิ้นลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ระบุว่า ธนาคารยังมีความเสี่ยง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่อาจจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อคุณภาพของสินทรัพย์อีก

หลังจากที่ TMB ประกาศกำไรสุทธิ 2.1 พันล้านบาทและมีอัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ที่ 0.4% ในปี 2552 ธนาคารยังคงมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 (งบการเงินก่อนตรวจสอบและก่อนสอบทาน) โดยมีกำไรสุทธิ 0.7 พันล้านบาท (0.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552) และมีอัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ที่ 0.5% (0.3% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552) แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของ TMB จะปรับตัวลดลงจากการชำระคืนสินเชื่อ แต่ก็ได้รับผลดีจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรายได้จากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากการตั้งสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขายที่ลดลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับเดิมที่ 2.4% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 TMB คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของสินเชื่อ (ตั้งเป้าที่ 10%) และรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน จากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลงและการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงขึ้น

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปรับตัวลงต่อเนื่องเป็น 52.7 พันล้านบาท หรือ 14.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 (54.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552) แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารจะอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงอย่างมากของสินเชื่อของธนาคารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวอาจลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 12% หลังจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 9.4 พันล้านบาทของธนาคารภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TMB แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่ 58.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงอ่อนแอและธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ TMB ยังคงมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะยังคงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ