(เพิ่มเติม) ดัชนี SET ภาคเช้าร่วงไปกว่า 2% ตามตลาดตปท.กังวลปัญหาหนี้สินกรีซลุกลาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 7, 2010 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์เปิดตลาดเช้านี้ร่วงไปกว่า 14 จุด ตามทิศทางตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า จากความกังวลปัญหาหนี้สินกรีซลุกลามไปในยุโรป ส่งผลให้เช้านี้ตลาดหุ้นเอเชียดิ่งตามตลาดหุ้นดาวโจนส์ ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ยังคงร่วงลงต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 9.59 น.ดัชนี SET อยู่ที่ 771.19 จุด ลดลง 14.06 จุด (-1.79%)

ล่าสุดเมื่อ 10.15 น.ดัชนี SET อยู่ที่ 768.26 จุด ลดลง 16.99 จุด(-2.16%)

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้เปิดเทรดมาปรับตัวลงกว่า 14 จุด ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยเช้านี้ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากปัญหาของกรีซที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่แล้ว มันเหมือนกับวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ซึ่งถ้าประเทศใหญ่ ๆ มีปัญหาเดียวกันก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ตอนนี้กรณีของยุโรปถือว่าน่าจะอันตราย

ช่วงสั้นนักลงทุนก็เข้าไปลงทุนทองคำ, ตราสารหนี้ แทน แล้วขายสินค้าโภคภัณฑ์(Commodity) และ หุ้น ออกมาก่อน แต่เมื่อถึงจุดที่สถานการณ์คลี่คลายก็เชื่อว่าจะมีการเข้ามาลงทุนในแถบเอเชียใหม่ เพราะเอเชียไม่ได้มีปัญหาอะไร

ส่วนปัจจัยในประเทศเรื่องการเมือง หลังจากที่นายกฯประกาศแผนปรองดอง"โรดแมพ" ก็มีหลายข้อที่ทางกลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มเสื้อหลากสี ยอมรับไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่า เมื่อเสื้อเหลืองไม่ยอมรับแผนปรองดองก็จะเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นเวลานี้ตลาดบ้านเราจึงเจอแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

พร้อมให้แนวรับ 747 จุด แนวต้าน 780 จุด

บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า ผลกระทบจากปัญหาหนี้สินในแถบยุโรปนั้นไม่ได้รุนแรงมากในแง่ของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาพบว่าไทยส่งออกไปแถบยุโรปน้อยลงมาก โดยจากรูปภาพที่แสดงด้านล่างจะพบว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังยุโรปต่อมูลค่าส่งออกรวม ลดลงอย่างต่อเนื่องและล่าสุดอยู่ไม่ถึง 10% แล้ว

นอกจากนี้หากเราพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีปัญหา ที่เราเรียกกันว่ากลุ่ม PIIGS นั้น ประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศกลุ่มดังกล่าวไม่ถึง 2% อย่างไรก็ดีในระดับอุตสาหกรรมอาจมีผลกระทบมากกว่านั้น เนื่องจากหุ้นกลุ่มอิเลกโทรนิกส์บางตัวมีฐานลูกค้าในแถบยุโรปมาก เช่น KCE และ SVI เป็นต้น

ส่วนที่ฝ่ายวิจัยกังวลมากกว่าความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ก็คือตลาดการเงิน เนื่องจากค่าประกันความเสี่ยงประเทศของโปรตุเกส และสเปน ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับส่วนต่างดอกเบี้ยพันธบัตรของเขาเทียบกับประเทศเยอรมันด้วย เราจึงมองว่าแม้ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจะน้อย นักลงทุนควรติดตามและรอให้เครื่องชี้ทางตลาดการเงินดังกล่าวมีเสถียรภาพมากกว่านี้กว่า จึงค่อยกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเต็มที่ น่าจะปลอดภัยกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ