ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 139.89 จุด เหตุตลาดกังวลปัญหากรีซ-เมินตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday May 8, 2010 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (7 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าปัญหาหนี้สินของกรีซอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกระลอกใหม่และไม่ให้ความสนใจต่อตัวเลขจ้างงานเดือนเม.ย.ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 4 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนจำนวนมากมีท่าทีระมัดระวังการซื้อขายและติดตามดูความคืบหน้าของการหาสาเหตุที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 1,000 จุดในระหว่างวันของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 139.89 จุด หรือ 1.33% มาปิดที่ระดับ 10,380.43 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 17.27 จุด หรือ 1.53% ปิดที่ 1,110.88 จุด และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 54.00 จุด หรือ 2.33% ปิดที่ 2,265.64 จุด

นักวิเคราะห์จากเวสท์วูด แคปิตอล ในสหรัฐ กล่าวว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงถูกปกคลุมด้วยความกังวลเรื่องปัญหาหนี้สินของกรีซ แม้มีรายงานว่าสภาล่างของรัฐสภาเยอรมนีมีมติด้วยคะแนน 390 ต่อ 72 เสียง อนุมัติเงินกู้จำนวน 2.24 หมื่นล้านยูโร (2.91 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเหลือกรีซ โดยเงินจำนวนนี้ของเยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งของแผนเงินกู้มูลค่ารวม 1.1 แสนล้านยูโร (1.416 แสนล้านดอลลาร์) ที่สหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และรัฐบาลกรีซได้ตกลงร่วมกัน

นักลงทุนจำนวนมากระมัดระวังการซื้อขาย และบางกลุ่มได้ปลีกตัวออกไปอยู่นอกตลาด หลังจากมีข่าวว่าเกิดความผิดพลาดด้านการซื้อขายจนเป็นเหตุให้ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 1,000 จุดในระหว่างวันของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) กำลังเร่งตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานว่ามีนักลงทุนอยู่เบื้องหลังการร่วงลงอย่างหนักของดัชนีดาวโจนส์หรือมีการเก็งกำไรอย่างผิดกฎหมายจนทำให้ตลาดผันผวนอย่างหนักในวันดังกล่าวหรือไม่ หลังจากการร่วงลงของดาวโจนส์เป็นเหตุให้เกิดความตื่นตระหนกและส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวถ้วนหน้า

ความกังวลในเรื่องเหล่านี้ทำให้นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) เดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 290,000 อัตรา ทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ก็ตาม

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า ยอดการกู้ยืมของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้น 1.95 พันล้านดอลลาร์ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะร่วงลง 3.85 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่บ่งชี้ว่า ภาคครัวเรือนของสหรัฐมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ