หุ้น KTC ราคาร่วงลง 8.55% มาอยู่ที่ 10.70 บาท ลดลง 1 บาท มูลค่าซื้อขาย 56.94ล้านบาท เมื่อเวลา 11.34 น. โดยเปิดตลาดที่ 10.80 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 11 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 10.60 บาท
เช้านี้ บมจ.บัตรกรุงไทย(KTC)ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/53 มีกำไรสุทธิ 29.19 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.11 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 152.86 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.59 บาท
พร้อมแจ้งว่า กำไรสุทธิไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เท่ากับ 29 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากพอร์ตลูกหนี้ไม่เพิ่ม ขณะที่บริษัทมีรายได้รวมลดลง ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด มีการตัดหนี้สูญและค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นผลให้กำไรของบริษัทลดลงจากเดิม
โดยสรุปภาพรวมของฐานะและผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2553 แสดงภาพรวมดังนี้ บริษัทมีฐานสมาชิกรวมทั้งสิ้น 2.15 ล้านบัญชี จาก 2.13 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2552 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทเข้มงวดกับการรับสมาชิกบัตรใหม่
พอร์ตลูกหนี้รวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มียอดลูกหนี้จำนวน 42,633 ล้านบาท ลดลง 3% จาก 44,007 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง จึงส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และชะลอการสร้างภาระหนี้ของตน เป็นผลให้มูลค่าพอร์ตลูกหนี้รวมลดลง
รายได้รวมมีจำนวน 2,943 ล้านบาท ลดลงจาก 3,114 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยรับ(รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน)และรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาสนี้มีจำนวน 1,971 และ 721 ล้านบาท ตามลำดับ
ณ ไตรมาสแรกปี 2553 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวนทั้งสิ้น 22,240 ล้านบาท และมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉลี่ยเท่ากับ 5.09% เพิ่มขึ้นจาก 4.80% ณ สิ้นปี 2552 มีผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ของบริษัทลดลงจาก 13.68% เป็น 13.11% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ ณ ระดับ 6.33 เท่า ลดลงจาก 6.95 เท่า ณ สิ้นปีที่ผ่านมา
สัดส่วนของค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เท่ากับ 47% เพิ่มขึ้นจาก 43% ณ สิ้นปี 2552 เพื่อให้บริษัทคงความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขันได้ และสามารถสื่อสารการตลาดไปสู่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงเพิ่มกิจกรรมทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นการใช้จ่าย ผ่านบัตรนับตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า