ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง162.79จุด เหตุนลท.วิตกแผนรัดเข็มขัดยูโรโซนขวางศก.ขยายตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday May 15, 2010 07:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดลงอีกเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) เนื่องจากความกังวลที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรหลังการใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดยอดขาดดุลจำนวนมากของรัฐบาลโปรตุเกสและสเปน แม้ทางการสหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสก็ตาม

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 162.79 จุด หรือ 1.51% ปิดที่ 10,620.16 จุด ทรุดหนักต่อเนื่องจากวันพฤหัสบดีที่ปิดร่วง 113.96 จุด

ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 21.76 จุด หรือ 1.88% ปิดที่ 1,135.68 จุด และดัชนี Nasdaq รูดลง 47.51 จุด หรือ 1.98% ปิดที่ 2,346.85 จุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะร่วงหนักในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ แต่เมื่อรวมทั้งสัปดาห์ดัชนีก็สามารถบวกขึ้นได้เนื่องจากการดีดตัวขึ้นแข็งแกร่งในวันจันทร์และวันพุธ โดยดาวโจนส์และ S&P บวกกว่า 2% ส่วน Nasdaq พุ่งกว่า 3.5%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดร่วงลงเมื่อคืนนี้คือ ความวิตกว่าแผนการรัดเข็มขัดอย่างเฉียบขาดที่สเปนและโปรตุเกสประกาศจะนำมาใช้เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆในยุโรปนั้น อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลงได้ ส่งผลให้นักลงทุนหนีจากตลาดหุ้นหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ปลอดภัยกว่า อาทิ ทองคำ และ พันธบัตรสหรัฐ โดยราคาทองคำทำสถิติสูงสุดใกล้ระดับ 1250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่เงินยูโรเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ความกังวลดังกล่าวของนักลงทุนถูกจุดชนวนให้ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่อดีตผู้ว่าการเฟดออกมาแสดงความเห็นว่าหนี้กรีซอาจทำให้กลุ่มประเทศยุโรปแตกสลายได้

โดยนายพอล โวล์กเกอร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความวิตกว่ากลุ่มประเทศยุโรปอาจสลายตัวจากกัน หลังเกิดวิกฤตหนี้สินในกรีซจนทำให้ประเทศสมาชิกยุโรปต้องร่วมกันให้ความช่วยเหลืออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

"มีโอกาสสูงมากที่สมาชิกกลุ่มประเทศยุโรปอาจแยกตัวจากกัน" โวล์กเกอร์ วัย 82 ปี กล่าว "หลายฝ่ายหวังว่านโยบายการคลังและเศรษฐกิจที่เหมาะสมจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ แต่หลายประเทศในยุโรปยังคงไม่มีนโยบายดังกล่าว"

ในสัปดาห์นี้กลุ่มผู้นำประเทศยุโรปตัดสินใจให้เงินช่วยเหลือมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐกับกรีซโดยคาดหวังว่าจะกอบกู้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร ขณะเดียวกัน จอห์น สโนว อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ก็ออกมาแนะนำว่าประเทศสมาชิกยุโรปอาจจำเป็นต้องปรับนโยบายการคลังเข้าหากันเพื่อพยุงเงินยูโร ซึ่งนอร์แมน ลามอนท์ อดีตรัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจยุโรปได้บดบังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวกของสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยก่อนตลาดหุ้นเปิดทำการว่า ยอดค้าปลีกของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันในเดือนเม.ย. ในอัตรา 0.4% ซึ่งดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ก็แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งเป็นอีกหลักฐานที่ชี้ว่าภาคการผลิตกำลังแสดงบทนำในการผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 73.3 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจาก 72.2 ในเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถช่วยหนุนตลาดได้เนื่องจากความกังวลที่มีมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ