ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กหวั่นวิกฤตการเงินยุโรป ฉุดดาวโจนส์ปิดลบ 66.58 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 20, 2010 06:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการของสหภาพยุโรป (อียู) จะแข็งแกร่งพอที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากข่าวรัฐบาลเยอรมนีออกกฎห้ามทำชอร์ตเซลหุ้นบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ 10 แห่งของเยอรมนี ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้สหรัฐนำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้อีก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 66.58 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 10,444.37 จุด ดัชนี S&P 500 ขยับลง 5.75 จุด หรือ 0.51% ปิดที่ 1,115.05 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 18.89 จุด หรือ 0.82% ปิดที่ 2,298.37 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.6 พันล้านหุ้น เมื่อเทียบกับวันอังคารที่ 1.5 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 4 ต่อ 1

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงผันผวนเนื่องจากความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่มีต้นตอมาจากกรีซ อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินในวงกว้าง และยังกังวลว่าหากยุโรปมีการใช้มาตรการรัดเข็มที่เข้มงวดมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกกังวลกับข่าวที่ว่าสำนักงานกำกับดูแลทางการเงินของรัฐบาลกลางเยอรมนี (BaFin) มีคำสั่งห้ามทำชอร์ตเซลสำหรับหุ้นที่ยังไม่มีการกู้ยืมมาก่อน (naked short-selling) ซึ่งครอบคลุมถึงการห้ามทำ naked short-selling ในตราสารหนี้สกุลเงินยูโรที่มีความเสี่ยงสูง ตราสาร credit default swap (CDS) สกุลเงินยูโร และหุ้นของ 10 บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี รวมถึงดอยช์ แบงค์ เอจี และดอยช์ โพสต์แบงค์ เอจี

นักวิเคราะห์จากรีเลทีฟ แวลู พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า แม้เยอรมนีให้เหตุผลว่าคำสั่งห้ามทำ naked short selling มีเป้าหมายที่จะสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน และป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์การเงินลุกลามในยุโรป แต่นักลงทุนกังวลว่าการตัดสินใจของเยอรมนีในครั้งนี้อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจนำกฎห้ามทำ naked short selling กลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่เคยนำมาใช้เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การเงินในยุโรปได้ส่งผลบดบังข้อมูลเชิงบวกในสหรัฐ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.ลดลง 0.1% ทำสถิติลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หลังจากราคาพลังงานร่วงลงอย่างหนัก และบ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ขณะที่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า คณะกรรมการเฟดมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็น 3.2 - 3.7% ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวเพียง 2.8 - 3.5%

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ โดยกระทรวงแรงงานจะรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด จะรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ส่วนวันศุกร์ไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ