นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู(BANPU)คาดว่าจะขายถ่านหินส่วนที่เหลืออีก 50% ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าได้ในราคาสูงกว่า 65 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งดีกว่าราคาขายถ่านหินที่ได้ทำสัญญาไปแล้วที่เฉลี่ยอยู่ที่ 60-62 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากทิศทางราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
และในขณะนี้ราคาถ่านหินยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก โดยเห็นได้จากราคาถ่านหิน BJI ขณะนี้มาอยู่ที่ 93 เหรียญสหรัฐ/ตันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์แล้ว และมองไปข้างหน้าน่าจะมีเสถียรภาพ
นอกจากนั้น การที่ปริมาณขายถ่านหินเพิ่มขึ้น 2 ล้านตันจากปีที่แล้ว มาเป็น 23 ล้านตันในปีนี้ น่าจะช่วยดึงให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของทั้งปี 53 เข้าใกล้ปีก่อนที่ทำได้ในระดับ 72 เหรียญสหรัฐ/ตันได้
นายชนินท์ กล่าวว่า แม้ว่าเหมืองโจ-ร่งในประเทศอินโดนีเซียต้องปิดทำการไปจากปัญหาโซนนิ่ง และยังไม่มีกำหนดว่าจะเปิดทำการอีกครั้งได้เมื่อใด โดยขณะนี้ฝ่ายบริการอยู่ระหว่างการประสานกับหน่วยงาน 2-3 แห่งของทางการอินโดนีเซีย แต่ถึงจะเปิดทำการยังไม่ได้ก็ไม่ได้กระทบกับเป้าหมายปริมาณการผลิตที่ 23 ล้านตัน เพราะหากเวลายาวนานออกไปบริษัทจะเพิ่มการผลิตจากเหมืองอื่นมาทดแทน
บริษัทยังมองว่าธุรกิจถ่านหินมีอนาคตที่ดี โดยได้วางแผนธุรกิจในระยะ 6 ปี(ปี 53-58)ภายใต้งบลงทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐในการลงทุนด้านถ่านหิน เพื่อขยายและเพิ่มประสิทธิภาพของเหมือง โดยจะใช้งบลงทุนในการพัฒนาเหมืองบารินโตะและขยายเหมืองอื่น ๆ ในอินโดนีเซีย 190 ล้านเหรียญสหรัฐ และเหมืองเกาเหอในจีน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนงบที่จะใช้มากที่สุดจะเป็นการลงทุนโครงการหงสาในลาว 255 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินในปี 57-58 ส่วนที่เหลือทยอยลงทุน
ทั้งนี้ บริษัทมีตั้งเป้าหมายว่าในปี 58 การผลิตถ่านหินจะมีปริมาณเพิ่มเป็น 33.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลผลิตจากเหมืองในอินโดนีเซีย 28 ล้านตัน และเหมืองในจีน 5.5 ล้านตัน ซึ่งในไตรมาส 3/53 เหมืองถ่านหินที่เมืองเกาเหอของจีนจะเริ่มผลิตได้ และจะทำให้ปริมาณการขายถ่านหินในจีนเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในปีนี้
อย่างไรก็ตาม งบลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมเงินลงทุนที่จะใช้ในการซื้อกิจการใหม่ที่บริษัทยังมองโอกาสและจังหวะที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นปี 52 บริษัทมีส่วนทุนและกระแสเงินสด 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรอโอกาสทางธุรกิจในการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อปี 52 บริษัทเรียนรู้ว่าการเสนอซื้อเหมืองต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น การเตรียมบริษัทให้มีความแข็งแรง มีกระแสเงินสดดี และหนี้สินต่ำเป็นกลยุทธสำคัญที่บริษัทต้องรักษาเอาไว้ โดยกิจการเหมืองที่ให้ความสนใจอยู่ในอินโดนีเซีย ออสเตรเลียและจีน ส่วนอินเดียยังเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปลงทุน
นายชนินท์ กล่าวถึงโครงการหงสาในประเทศลาวที่มีมูลค่าลงทุน 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ BANPU ถือหุ้นอยู่ 40% วันนี้ได้มีการเซ็นสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไปแล้ว คาดว่าการจัดหาแหล่งเงินกู้จะได้ข้อสรุปในไตรมาส 3/53 วงเงินกู้ประมาณ 2.8 พันล้านดอลล์
นายชนินท์ ยังกล่าวว่า บริษัทไม่มีแผนแตกพาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพราะหุ้น BANPU ยังมีสภาพคล่องที่ดี โดยจะดูปัจจัยและสภาพคล่องเป็นหลัก ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นรายปี