ก.ล.ต.แนะโบรกฯหามาตรการคุมคำสั่งซื้อขายผ่านเน็ต-ยกเลิกหักค่าอินเซ็นทีฟ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 25, 2010 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ประจำไตรมาส 2/53 ว่า การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นที่นิยมและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก.ล.ต. เห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ควรจะมีมาตรการในการควบคุมดูแลการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอย่างเคร่งครัดในระดับที่ไม่แตกต่างจากการส่งคำสั่งทางช่องทางปกติ

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งที่มีลักษณะไม่เหมาะสมหรืออาจผิดกฎหมาย เช่น สร้างราคา โดย บล. จะต้องมีมาตรการป้องปราม เช่น มีการคัดกรองคำสั่งที่ไม่เหมาะสม เช็คสอบ IP address ว่าเป็นการส่งคำสั่งจากลูกค้าจริง และเมื่อพบการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติ ก็อาจให้ลูกค้าหยุดส่งคำสั่ง โดยจะต้องมอบหมายให้ผู้ดูแลการปฏิบัติงานด้านหลักทรัพย์ (compliance) สอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด และให้รายงานเมื่อพบความผิดปกติโดยไม่ชักช้า เป็นต้น ซึ่งสมาคม และ ก.ล.ต. จะร่วมกันกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานขั้นต่ำในการควบคุมดูแลการส่งคำสั่งผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ บล. ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

ส่วนแนวทางกำกับดูแลและการพัฒนาคุณภาพของเจ้าหน้าที่การตลาด จากการที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของเจ้าหน้าที่การตลาด ทางสมาคมนำฯ ได้เสนอ ก.ล.ต. ว่าจะยกเลิกมาตรการการหักค่าอินเซ็นทีฟของเจ้าหน้าที่การตลาด และเสนอมาตรการรองรับดังนี้

1. ปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการของ บล. ในปัจจุบันซึ่งมีทั้งรูปแบบของ Private Wealth Management หรือรูปแบบที่เน้นการซื้อขายหุ้นเป็นหลัก ตลอดจนเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบุคลากรใหม่ที่มีคุณภาพเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์

2. พัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้สามารถบริการลูกค้าได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยดำเนินโครงการ Modern Marketing ร่วมกับสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่การตลาดปัจจุบันในด้าน soft skills และด้าน investment knowledge และอบรมเจ้าหน้าที่การตลาดรุ่นใหม่ รวมถึงการสร้างเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมที่มีคุณภาพ ซึ่งในปีนี้จะอบรมบุคลากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 คน

3. จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน (best practices) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ และมุ่งเน้นให้ บล. กำกับดูแลผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้ดำเนินการตามคู่มือดังกล่าวโดยเคร่งครัด โดยจะมีการกำหนดปัจจัยคุณภาพในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนและดำเนินการประเมินผลเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทางสมาคมได้สำรวจข้อมูล พบว่า บล. ส่วนใหญ่จัดทำบทวิเคราะห์ในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขาย 20 อันดับแรกของบริษัท โดยเฉลี่ยคิดเป็น 87% ของหลักทรัพย์ดังกล่าว(ประมาณ 17 หลักทรัพย์) ในลำดับถัดไปสมาคมจะผลักดันให้ บล. ทุกแห่งทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุมหลักทรัพย์ทั้งหมดที่มีการซื้อขาย 30 อันดับแรกของบริษัทภายในกลางปี 54 (จากปัจจุบันทำได้โดยเฉลี่ยคิดเป็น 82% ของหลักทรัพย์ดังกล่าว หรือประมาณ 25 หลักทรัพย์) และหลังจากนั้น บล. ทุกแห่งจะต้องทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุมหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขาย 50 อันดับแรก เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ