พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)และประธานคณะกรรมการ 3จี แถลงว่า ขณะนี้การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 3จี ได้มีการกำหนดกรอบ ขั้นตอน และระยะเวลาดำเนินการอย่างชัดเจน
ขั้นตอนแรกเป็นการพิจารณาในประเด็นต่างๆ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาต เช่น วิธีการจัดสรร จำนวนใบอนุญาต คุณสมบัติผู้เข้าร่วม มูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในชั้นตอนดังกล่าวตั้งแต่ พ.ค.53 และจะสรุปผลการนำเสนอต่อ กทช.เพื่อพิจารณาในรายละเอียดก่อนการรับฟังความเห็นจากสาธารณะ ในเดือน มิ.ย.- ก.ค. เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ได้ตรวจสอบอย่างกว้างขวาง จากนั้นจะลงประกาศต่างๆในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะได้ข้อชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ด้วย
"คาดว่าจะสามารถเปิดรับคำขอและพิจารณาคุณสมบัติขั้นต้นในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้น จะเป็นขั้นตอนการออกใบอนุญาตเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้" พ.อ.นที กล่าว
วานนี้ (25 พ.ค.) คณะกรรมการ 3จี ได้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องร่วมกันกับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภคเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ และจะนำข้อสรุปเข้าพิจารณาในการประชุม กทช. ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
ทั้งนี้ กทช.ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนากิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทย สำหรับเป็นกรอบและเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจนในการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT(3.9จี) เพื่อให้กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยเข้าสู่ยุคการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
พ.อ.นที กล่าวว่า คณะกรรมการ 3จี ได้รวบรวมผลศึกษาเห็นว่าจำนวนใบอนุญาต 3จี ที่เหมาะสมอยู่ที่ 3 ใบ ใบละ 15 MHz จากคลื่นความถี่ทั้งหมด 45 MHz บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้การจัดสรรมีความเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งจะเปิดให้ประมูลพร้อมกันทุกใบอนุญาต และคาดว่าหลังจากที่เอกชนได้ใบอนุญาต 3จี จะมีการเปิดให้บริการเร็วที่สุดภายในปลายปีนี้บางจุด
และ ต้องการผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ 3.9 จี ซึ่งจะทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้น 20 เท่าจากเทคโนโลยี 3 จี แต่จะไม่เพิ่มการลงทุนมากกว่าเดิม
"เราผลักดันออกใบอนุญาต และก้าวสุ่ 3.9 จี ถ้ายังเป็น 3 จี เราจะเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้บริการ แต่ 3.9 จีเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เราจะเป็นประเทศแรกที่ใช้ในอาเซียนและใช้เวลาเดียวกับญี่ปุ่น" พ.อ.นที กล่าว
ทั้งนี้ คุณสมบัติผุ้ที่จะเข้าประมูล จะเปิดให้ทั้งผู้ให้บริการรายใหม่และรายเดิมได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซส คอมมูนิเกชั่น(DTAC) และ ทรูมูฟ ก็มีสิทธิเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต แต่หากเป็นรายเดิมจะต้องไม่ต่อสัญญาสัมปทานร่วมการงานเมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว หรือไม่เช่าโครงข่ายจากเจ้าของโครงข่ายต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไม่เปิดให้ผู้ที่มีคลื่นความถี่ 2.1 GHz อยู่แล้ว เช่น ทีโอที เข้าร่วมประมูล ส่วนผู้ทีเป็น MVNO ของทีโอที มีสิทธิเข้าร่วมประมูลได้
อย่างไรก็ตาม กทช.ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยในลักษณะ MVNO ระดับท้องถิ่นและภูมิภาคทั่วประเทศโดยให้ผู้รับใบอนุญาตต้องเผื่อโครงข่าย มากกว่า 40% สำหรับผู้ให้บริการ MVNO รายใหม่
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะให้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยจะต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปีหลังจากได้รับใบอนุญาต เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมีการเปิดเผยข้อมูล มีฐานะที่มั่นคง