ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (26 พ.ค.) หลังจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า จีนกำลังทบทวนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลยุโรป อันเนื่องมาจากความวิตกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สิน ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนเข้ามาเทขายหุ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่ามาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลในยุโรปนำมาใช้เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณนั้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรปด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 69.30 จุด หรือ 0.69% แตะที่ 9,974.45 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 6.08 จุด หรือ 0.57% ปิดที่ 1,067.95 จุด และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 15.07 จุด หรือ 0.68% ปิดที่ 2,195.88 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.244 หมื่นล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 3 ต่อ 2 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 9.65 พันล้านหุ้น
นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเมื่อคืนนี้ดาวโจนส์ดิ่งลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 10,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน หลังจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า จีนกำลังทบทวนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลในยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดเสถียรภาพด้านการเงินในยุโรป
นักวิเคราะห์จากซีพอร์ท ซิเคียวริตีส์ ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น จีนพยายามหาช่องทางในการนำเม็ดเงินจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่จำนวนมากนั้น ออกมากระจายความเสี่ยง ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์สกุลเงินอื่นๆที่นอกเหนือจากดอลลาร์ แต่เนื่องจากยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การเงิน จึงอาจทำให้จีนขาดความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร และเริ่มทบทวนการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลยุโรป ซึ่งข่าวดังกล่าวอาจฉุดค่าเงินยูโรให้ร่วงลงอีก
การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินยูโรสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลในยุโรปจะสามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้ อีกทั้งกังวลว่าหากมีการใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปด้วย โดยนางเอเลนา ซาลกาโด รมว.คลังสเปน ยอมรับว่า มาตรการรัดเข็มขัดที่มีเป้าหมายจะลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสเปนในปี 2554
มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ Aaa อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในอนาคตอันใกล้นี้ นอกเสียจากว่าสหรัฐจะใช้มาตรการเพิ่มเติมในการลดยอดขาดดุลงบประมาณที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ในขณะนี้
มูดีส์กล่าวว่า การที่สหรัฐยังคงสามารถรักษาอันดับเครดิต Aaa เอาไว้ได้อยู่ในขณะนี้ ก็เพราะสหรัฐมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่มูดีส์เตือนว่าสถานะการคลังของสหรัฐเป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้นำงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในการยับยั้งเศรษฐกิจสหรัฐให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อตัวเลขจีดีพีของสหรัฐ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าประเทศอื่นๆที่มีอันดับเครดิต Aaa เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้แรงหนุนหลังจากสหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 2.9% ทำสถิติเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 เดือน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย.ในสหรัฐทะยานขึ้น 14.8% แตะที่ 504,000 ยูนิต/ปี เนื่องจากชาวอเมริกันแห่ซื้อบ้านก่อนที่นโยบายลดหย่อนภาษีจะหมดอายุ
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพฤหัสบดี กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกปีนี้ และกระทรวงแรงงานจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนวันศุกร์ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) จะเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในกรุงนิวยอร์กเดือนพ.ค.
หุ้นไมโครซอฟท์ คอร์ป ปิดร่วงลง 4.1% ขณะที่หุ้นแอปเปิล อิงค์ ปิดลบ 0.5%