(เพิ่มเติม) กทช.คาดเปิดประมูลไลเซ่นส์ 3G ราวกลาง-ปลายก.ย.53 เริ่มต้นใบละ 1หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 4, 2010 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)มีมติเห็นชอบให้เปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 2100 หรือ ระบบ 3G จำนวน 3 ใบ ขนาดใบละ 15 MHz ด้วยการเปิดประมูลพร้อมกันทั้งหมด โดยคาดว่าจะนำรายละเอียดเสนอร่างข้อสรุปสนเทศ(IM)เพื่อพิจารณาในวันที่ 9 มิ.ย.หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้ประมาณปลายเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะประกาศเชิญชวนในเดือน ส.ค. และน่าจะเปิดประมูลได้ราว กลาง-ปลายเดือน ก.ย.นี้ ในราคาเริ่มต้นประมูล(reserve price)ที่ 1 หมื่นล้านบาท

"เราจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนมิ.ย. จะเปิดครั้งเดียวแต่ทำหลายช่องทาง จากนั้นเราจะประกาศเชิญชวนในเดือนส.ค. และพิจารณา PQ(คุณสมบัติเบื้องต้น)ในเดือน ก.ย.และคิดว่าจะเคาะราคาประมูลกันได้ กลางถึงปลาย ก.ย."พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการ 3G ได้ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz ไว้ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท และตั้ง reserve price ประมาณ 80%ของราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปหลายประเทศเริ่มประมูล 80% ของราคาใบอนุญาต

พ.อ.นที กล่าวว่า การเปิดประมูลพร้อมกัน 3 ใบ ต่อเมื่อมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 4 รายขึ้นไป หากมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 3 รายก็จะเปิดประมูล 2 ใบ และหากผ่าน 2 รายก็จะเปิดประมูล 1 ใบ แต่จะเปิดประมูลใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีความเสียเปรียบและให้เปิดบริการได้ในเวลาใกล้เคียงกัน

"อย่างน้อยต้องมีคนผิดหวัง 1 ราย ผมคิดว่าน่าจะมีต่างชาติสนใจเข้าร่วมประมูล...เราก็อยากให้ CAT(กสท.โทรคมนาคม)เข้าร่วมด้วย ยิ่งเข้าร่วมเยอะเท่าไรก็ยิ่งดี"พ.อ.นที กล่าว

ใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 15 ปี และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 9-10 ปี อย่างไรก็ตาม พ.อ.นที เห็นว่า reserve price ถือว่าไม่สูง รวมกับค่าธรรมเนียบใบอนุญาตฯที่จ่าย 2% ต่อปี และค่าธรรมเนียมบริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง(USO)จ่าย 4%ต่อปี เฉลี่ยแล้วจะจ่ายประมาณ 14-15%ต่อปี เมื่อเทียบกับการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ภายใต้สัญญาสัมปทานจ่าย 20% สำหรับระบบ prepaid และ 25% สำหรับระบบ postpaid

นอกจากนี้ คณะกรรมการ กทช.เห็นชอบให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกันโครงข่าย 40% สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง หรือเช่าใช้โครงข่ายผู้อื่น(MVNO)รายใหม่ ซึ่ง MVNO จะเลือกใช้ได้รายเดียว เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก โดยเฉพาะผู้ผลิต Content และเพื่อให้กระจายไปยังภูมิภาค ส่วน MVNO ที่เช่าใช้โครงข่ายทีโอทีในปัจจุบัน สามารถขอใช้ได้แต่ต้องบอกยกเลิกกับทีโอทีก่อน

ปัจจุบัน ทีโอที เป็นผู้ให้บริการระบบ 3G ซึ่งมีคลื่นความถี่ 15 MHz


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ