คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)มีมติเห็นชอบให้เปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 2100 หรือ ระบบ 3G จำนวน 3 ใบ ขนาดใบละ 15 MHz ด้วยการเปิดประมูลพร้อมกันทั้งหมด โดยคาดว่าจะนำรายละเอียดเสนอร่างข้อสรุปสนเทศ(IM)เพื่อพิจารณาในวันที่ 9 มิ.ย.หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้ประมาณปลายเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะประกาศเชิญชวนในเดือน ส.ค. และน่าจะเปิดประมูลได้ราว กลาง-ปลายเดือน ก.ย.นี้ ในราคาเริ่มต้นประมูล(reserve price)ที่ 1 หมื่นล้านบาท
"เราจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนมิ.ย. จะเปิดครั้งเดียวแต่ทำหลายช่องทาง จากนั้นเราจะประกาศเชิญชวนในเดือนส.ค. และพิจารณา PQ(คุณสมบัติเบื้องต้น)ในเดือน ก.ย.และคิดว่าจะเคาะราคาประมูลกันได้ กลางถึงปลาย ก.ย."พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการ 3G ได้ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz ไว้ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท และตั้ง reserve price ประมาณ 80%ของราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปหลายประเทศเริ่มประมูล 80% ของราคาใบอนุญาต
พ.อ.นที กล่าวว่า การเปิดประมูลพร้อมกัน 3 ใบ ต่อเมื่อมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 4 รายขึ้นไป หากมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 3 รายก็จะเปิดประมูล 2 ใบ และหากผ่าน 2 รายก็จะเปิดประมูล 1 ใบ แต่จะเปิดประมูลใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีความเสียเปรียบและให้เปิดบริการได้ในเวลาใกล้เคียงกัน
"อย่างน้อยต้องมีคนผิดหวัง 1 ราย ผมคิดว่าน่าจะมีต่างชาติสนใจเข้าร่วมประมูล...เราก็อยากให้ CAT(กสท.โทรคมนาคม)เข้าร่วมด้วย ยิ่งเข้าร่วมเยอะเท่าไรก็ยิ่งดี"พ.อ.นที กล่าว
ใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 15 ปี และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 9-10 ปี อย่างไรก็ตาม พ.อ.นที เห็นว่า reserve price ถือว่าไม่สูง รวมกับค่าธรรมเนียบใบอนุญาตฯที่จ่าย 2% ต่อปี และค่าธรรมเนียมกองทุนการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง(USO)จ่าย 4%ต่อปี เฉลี่ยแล้วจะจ่ายประมาณ 14-15%ต่อปี เมื่อเทียบกับการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ภายใต้สัญญาสัมปทานจ่าย 20% สำหรับระบบ prepaid และ 25% สำหรับระบบ postpaid
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กทช.เห็นชอบให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกันสัญญา 10% ของ reserve price และเมื่อประมูลได้ต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 50%ของมูลค่าที่ประมูลได้ ส่วนที่เหลือ 25% จะจ่ายเมื่อสิ้นสุดปีที่ 2 และ 25% สุดท้ายต้องจ่ายเมื่อสิ้นสุดปีที่ 3
เงื่อนไขหลังได้ใบอนุญาตในการติดตั้งโครงข่าย (Roll out) ในปีที่ 2 จะต้องให้บริการครอบคลุมอย่างน้อย 50% ของประชากรและครบทุกจังหวัด และในปีที่ 4 ให้บริการครอบคลุม 80% ของประชากร อย่างไรก็ตาม กทช.ให้เงื่อนไขจูงใจหากผู้รับใบอนุญาตสามารถเปิดให้บริการครอบคลุม 80% ในปีที่ 3 ได้ จะให้ขยายเวลาในการจ่ายค่าใบอนุญาตออกไปเป็นปีที่ 4 ในส่วนที่เหลือ 25%สุดท้าย
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กทช.เห็นชอบให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกันโครงข่าย 40% สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง หรือเช่าใช้โครงข่ายผู้อื่น(MVNO)รายใหม่ ซึ่ง MVNO จะเลือกใช้ได้รายเดียว เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก โดยเฉพาะผู้ผลิต Content และเพื่อให้กระจายไปยังภูมิภาค ส่วน MVNO ที่เช่าใช้โครงข่ายทีโอทีในปัจจุบัน สามารถขอใช้ได้แต่ต้องบอกยกเลิกกับทีโอทีก่อน
ปัจจุบัน ทีโอที เป็นผู้ให้บริการระบบ 3G ซึ่งมีคลื่นความถี่ 15 MHz
รวมทั้ง การเปิดให้โรมมิ่งระหว่างผู้ให้บริการระบบ 3G ด้วยกันให้เป็นไปตามการเจรจาการตกลง ขณะที่ ผู้ให้บริการ 3G จะขอโรมมิ่งกับ 2G ได้โดยที่ผู้ให้บริการ 2G ไม่มีสิทธิปฏิเสธ ระยะเวลาโรมมิ่ง 4 ปี แต่ไม่อนุญาตผู้ให้บริการ 2G ทำการโรมมิ่งกับผู้ให้บริการ 3G แต่ให้ขออนุญาตในรูป MVNO เพื่อต้องการให้ผู้ให้บริการ 3G เติบโตซึ่งเป็นผู้เข้าตลาดหลังผู้ให้บริการ 2G และไม่นับรวมกับการกันโครงข่าย 40% ให้กับ MVNO รายอื่น
สำหรับคุณสมบัติบริษัทที่เข้าร่วมประมุลต้องเป็นบริษัทจำกัด และเมื่อประมูลได้แล้วให้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ภายใน 45 วัน รวมทั้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี โดยผู้ยื่นคำขอแต่ละรายจะต้องมีอิสระจากกัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นบริษัทลูกหรือบริษัทที่ถือหุ้นไขว้กันกับผู้ยื่นขอใบอนุญาตถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกันก็จะตกคุณสมบัติ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการฮั้วประมูล
"คนที่จะผ่าน PQ ต้องผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นเรื่องการเป็นบริษัทจำกัด การวางหลักประกัน"พ.อ.นที กล่าว