โบรกฯแนะ"ซื้อ "TMB"รอปันผลปีนี้คาด 0.03 บ./ING ซื้อหุ้นเพิ่มยังอีกไกล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 7, 2010 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะซื้อหุ้น ธนาคารทหารไทย (TMB) จากแนวโน้มการเติบโตของธนาคารที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งความสามารถการปล่อยสินเชื่อและการทำกำไรที่ดีขึ้น หลังใช้เวลาปรับปรุงโครงสร้างมาถึง 2 ปี และหลังการลดพาร์เหลือ 0.95 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมได้หมด และปีนี้ ธนาคารจะจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี คาดว่าจะจ่ายในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท สะท้อนฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น

ขณะที่กรณีที่กระทรวงการคลังจะขายหุ้น TMB เพิ่มเติม โดยให้สิทธิ ING ซื้อเป็นรายแรกนั้น คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะกระทรวงการคลังต้องการได้ราคาขายที่ดี ขณะที่ ING อาจจะยังไม่พร้อมในเร็ว ๆนี้ ส่วนรายอื่นจะเข้ามาเสียบคงยากเพราะต้องมาคานอำนาจกับกลุ่ม ING ที่ถือหุ้นใหญ่อยู่เดิม

          โบรกเกอร์            คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย(บาท)
          บล.ฟิลลิป              ซื้อ                  1.56
          บล.กรุงศรีอยุธยา        ซื้อเก็งกำไร           1.53
          บล.เอเซีย พลัส         ซื้อ                  1.79
          บล.ไอร่า              ซื้อเก็งกำไร           1.60
          บล.กิมเอ็ง             ทยอยสะสม            1.54

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป(ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตของธนาคารดีขึ้นต่อเนื่อง แม้จะช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก็ตาม ซึ่งธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นทั้งการปล่อยสินเชื่อและการทำกำไร แม้ปีนี้จะมีการเติบโตไม่มากก็ตาม

ยการปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังคาดว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ที่ 10% แม้ไตรมาส 1/53 การปล่อยสินเชื่อของธนาคารลดลง 2% เนื่องจากมีการ re-payment ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องการอยู่แล้วเพราะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนต่ำ แต่แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตได้ดี โดยเดือน เม.ย.53 สินเชื่อธนาคารเติบโตถึง 2% แล้ว ขณะที่สินเชื่อในตลาดยังหดตัว สะท้อนถึงความสามารถการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ทำได้ดี

ส่วนการลดพาร์จาก 10 บาท/หุ้น เป็น 0.95 บาท/หุ้น เพื่อล้างขาดทุนสะสม และยังมีอีก 78 ล้านบาท ซึ่งธนาคารใช้กำไรในไตรมาส 1/53 ล้างขาดทุนสะสมได้หมด ดังนั้น ในปีนี้คงเป็นไปตามที่ธนาคารประกาศจะจ่ายปันผลจากผลกำไรปีนี้ได้เต็มปี คาดว่าจะจ่ายปันผลหุ้นละ 0.03 บาท มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมว่าจะจ่ายปันผลหุ้นละ 0.02 บาท และจากแนวโน้มการเติบโตของธนาคารมองว่า ธนาคารยังมีโอกาสที่จะจ่ายปันผลต่อเนื่องในปีต่อไปด้วย

“ความเสี่ยงของ TMB หากมองเป็นปัญหาเฉพาะของธนาคารเองมองว่าไม่น่าจะมีแล้ว เพราะธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากจะเป็นความเสี่ยงธุรกิจอาจจะเป็นต่อภาพรวมต่อ sector bank มากกว่า เช่นภาพรวมเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อสินเชื่อและ NPL"นางสาวศศิกร กล่าว

ส่วนกรณีการขายหุ้น TMB ที่คลังถืออยู่ โดยให้สิทธิ ING ซิ้อหุ้นก่อนนั้น มองว่า อาจไม่เห็นในปีนี้ เนื่องจากคลังยังไม่เร่งรีบที่จะขาย และ ING ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุโรป อยู่ ขณะที่มองว่ายังมีนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะซื้อธนาคารในไทย ทั้งจากประเทศในเอเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เนื่องจากยังไม่ประสบปัญหาเศรษฐกิจเลวร้าย แต่หากต่างชาติจะเข้ามาซื้อหุ้น TMB คงต้องคิดหนัก เพราะอาจจะต้องมีการคานอำนาจกับกลุ่ม ING ด้วยเช่นกัน

“เรื่องขายหุ้น TMB ของคลังคงรอในเรื่องราคามากกว่า เพราะคลังเองคงไม่ขายราคาถูกแล้ว หลังจากธนาคารได้แต่งตัวสวยดูดีขึ้นแล้ว แต่หาก ING ที่ยุโรปมีปัญหา การจะซื้อหุ้นเพิ่มตอนนี้ก็คงยาก แต่ถ้า ING จะถอนเงินกลับหาพาร์ทเนอร์รายใหม่มาซื้อ ก็น่าจะมีกำไรได้ เรื่องนี้คงต้องรอดูกันก่อน"นางสาว ศศิกร กล่าว

นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า TMB มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้งการเติบโตของสินเชื่อเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี รวมถึง ระดับคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่ง NPL ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การล้างขาดทุนสะสมของธนาคารคาดว่าจะดำเนินการได้ในกลางปี 53 นี้ซึ่งจะทำให้ภาพของธนาคารดีขึ้นต่อเนื่อง แต่มองว่า ยังไม่ได้ช่วยให้ธนาคารแข็งแกร่งมากนักเมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะธนาคารยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีก แต่การล้างขาดทุนสะสม จะทำให้ธนาคารสามารถจ่ายเงินปันผลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ที่ 0.03 บาท/หุ้น แต่มองว่า TMB ไม่ใช่หุ้นที่เหมาะจะลงทุนเพื่อรับเงินปันผล แต่เป็นการจ่ายปันผลที่สะท้อนภาพที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่า TMB ดีขึ้น แบงก์เริ่มกลับมาดีขึ้น ทั้งด้านสินเชื่อ การรีบอนดิ้งต่างๆ แต่โดยภาพรวมยังมีอีกหลายจุดที่จะต้องมีการปรับปรุง" นายธนัท กล่าว

ส่วนการที่คลังเตรียมขายหุ้นที่เหลืออยู่ โดยเปิดโอกาสให้ ING กรุ๊ป เข้าซื้อหุ้นก่อนนั้น มองว่า การขายหุ้นในส่วนของคลังคงยังไม่เร่งรีบ คาดว่าอาจไม่ได้เห็นภายในปีนี้ เพราะในส่วนของ ING คงต้องรอการอนุมัติจากบริษัทแม่ ขณะที่ปัญหาในยุโรปอาจทำให้ ING ต้องชะลอการตัดสินใจประกอบกับฐานะของ TMB ที่ดีขึ้น เชื่อว่า คลังคงไม่ตัดสินใจขายหุ้นในราคาที่ถูกเหมือนช่วงที่ผ่านมา ที่ต้องการเงินทุน แต่หากขายในราคาถูก คลังเองอาจจะมีปัญหาตามมาได้

แต่อีกมุมมอง หากนักลงทุนต่างชาติรายอื่นสนใจจะซื้อหุ้น TMB คงต้องคิดหนัก เพราะแม้จะซื้อหุ้นจากคลังทั้งหมด แต่ยังเป็นรอง ING ดังนั้น การบริหารจัดการคงทำได้ไม่เด็ดขาดเต็มที่ หากต้องการเข้ามาซื้อเพื่อมีอำนาจเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานของ TMB ปีนี้ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 2,800 ล้านบาท ขยายตัว 37% เมื่อเทียบปีก่อน โดยคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัว 5% เมื่อเทียบปีก่อน น้อยกว่าที่ธนาคารตั้งเป้าว่าจะขยายตัว 10%

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ขณะนี้ TMB พร้อมสำหรับการเติบโตเชิงรุกในระยะยาว หลังจากใช้เวลา 2 ปีในการปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กร และธนาคารได้ให้ความสำคัญพนักงานทุกระดับที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตของกิจการและมีส่วนแบ่งในผลการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่มีความสามารถได้ร่วมงานกับธนาคารนานขึ้น โดยการใช้ระบบ Performance Share Bonus ซึ่งจะมีการจัดสรรหุ้นเป็นโบนัสให้แก่พนักงานจำนวน 400 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการเสนอขายให้แก่พนักงานในราคาตลาดย้อนหลัง 90 วันจากวันที่ได้รับการจัดสรร ดังนั้นมองว่าการดำเนินธุรกิจและการบริหารบุคลากรของธนาคารฯ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของกำไรสุทธิเชิงรุกในระยะยาว

นอกจากนี้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ ผลกำไร รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น TMB ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นไปในลักษณะที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากแผนการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจเชิงรุก และสามารถคาดหวังเงินปันผลตอบแทนได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ทัดเทียมธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ก็เป็นสัญญาณบวกที่บ่งบอกถึงสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการล้างผลขาดทุนสะสมและส่วนลดมูลค่าหุ้นให้หมดไปในไตรมาส 2/53

ขณะที่ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในปี แม้ผลกระทบจากเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ SME บางกลุ่ม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยฯ ต่อการเพิ่มขึ้นของ NPL เนื่องจากนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารฯ ที่เน้นการผ่อนปรนหนี้ให้แก่ลูกหนี้

และปีนี้ ธนาคารฯ ยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง SME และรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นหลัก แม้ธนาคารฯ จะไม่ได้คาดหมายการเพิ่มขึ้นของ NIM มากนัก เนื่องจากการมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีระยะเวลาให้กู้สั้นลง แต่สามารถคาดหมายถึงการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เข้ามาทดแทนในเชิงรุกได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ