โบรกฯ แนะ"ซื้อ"DTAC รับผลบวกประมูล 3G-แก้สัญญาเดิม,Q2/53 กำไรดีกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 21, 2010 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ เห็นพ้องแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)หลังมีปัจจัยบวกเรื่องการประมูล 3Gและรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเร่งให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมก่อนจะมีการประมูล 3G ซึ่งส่งผลทางบวกต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่มองว่าโอเปอเรเตอร์พุ่งเป้าประมูลใบอนุญาต 3G ก่อน เพราะคลื่นความถี่สูงการให้บริการครอบคลุมและรองรับการใช้ Non Voice ได้ดีกว่า

แต่โบรกฯ ยังมองว่าการแปรสัญญาสัมปทานรายเดิมให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดประมูล 3G ในเดือน ก.ย.ยังเป็นไปได้ยาก เพราะระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด แต่ถึงจะยังไม่มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม แต่หากเกิดการประมูลใบอนุญาต 3G ได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการมากกว่า

ขณะที่ประเมินว่า DTAC จะมีผลประกอบการไตรมาส 2/53 ออกมาดีกว่าคาด โดยเติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ชะลอลงจากไตรมาสแรกตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนกำไรทั้งปีเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ยังสามารถจ่ายปันผลแม้ต้องลงทุนสูงในเทคโนโลยี 3G

          โบรกเกอร์              คำแนะนำ            ราคาเป้าหมาย(บาท)
          บล.เอเชีย พลัส            ซื้อ               44.00 (ไม่รวม 3G)
          สถาบันวิจัยนครหลวงไทย      ซื้อ               48.00 (ไม่รวม 3G)
          บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)     ซื้อ               43.50 (ไม่รวม 3G)
          บล.บัวหลวง               ซื้อ               41.00 (ไม่รวม 3G)

นายกวี มานิตสุภวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยไทย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หุ้น DTAC ยังคงมีความน่าสนใจและมองว่ามีศักยภาพเชิงบวก แม้ว่า รมว.คลังจะต้องการให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายเดิมก่อนจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ในเดือน ก.ย.โดยมองว่าไม่ว่าจะเป็นทางใดก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทเนื่องจากจะทำให้ต้นทุนถูกลง

ทั้งนี้ หากไม่มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานปัจจุบัน ก็จะทำให้ในอนาคต DTAC ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเป็น 30% จากเดิม 25% ดังนั้น การใช้สัมปทานใหม่บนโครงข่ายเทคโนโลยีใหม่จะดีต่อบริษัทมากกว่าในระยะยาวและเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการแข่งขันให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยบนพื้นฐานเดียวกัน

DTAC ยังคงเป้าหมายงบลงทุนโครงข่าย 3G ตามเดิมที่ 3.6—4.0 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก และเนื่องจากโครงข่าย 2G ภายใต้สัมปทานเดิมยังมีอายุเหลืออีก 8 ปี ดังนั้น เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 5-8 ปีในการโอนย้ายลูกค้าจาก 2G มา 3G ให้ครบ 100% อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาดังกล่าวอาจเร็วกว่ากำหนดได้ หากคู่แข่งโอนย้ายเร็วเกินคาด

หากมีการประมูลใบอนุญาต 3G บนเทคโนโลยี 3.9G ในเดือน ก.ย.ตามกรอบเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)กำหนดไว้กว่าจะลงทุนระบบและติดตั้งโครงข่ายต้องเวลาอย่างน้อย 6-9 เดือน คาดว่าหากดำเนิการได้จริงจะมีการให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 3/54 และจะเริ่มเห็นรายได้ที่ชัดเจนในระยะ 1-2 ปี หลังเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ รวมทั้งต้นทุนที่ลดลงชัดเจน รวมถึงรายได้จาก Non-Voice ที่จะเพิ่มเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับหุ้น DTAC ให้ราคาเป้าหมายปี 53 ยังไม่รวม 3G ที่ 44.00 บาท และ ราคาเป้าหมายหลังรวมมูลค่าเพิ่มจาก 3G เพิ่มอีก 3 บาท โดย Fair Value ของ DTAC จะอยู่ที่ 47.38 บาท เป็นบริษัทฯ หนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากส่วนลดของส่วนแบ่งรายได้มากสุดเช่นเดียวกับ TRUE ราคาปัจจุบันยังมี upside gain สูงถึง 34.4% นอกจากนี้ยังสามารถคาดหวัง Dividend Yield ที่ 4.8%

น.ส.ศลยา ณ สงขลา ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) มองว่า DTAC ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วงไตรมาส 2/53 และมีการเพิ่มประมาณการณ์กำไรในปี 53 ที่ 8.2 พันล้านบาท หรือโต 24% จากปีที่แล้ว โดยประเมินว่าการประมูล 3G มีโอกาสล่าช้าจากความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งท่าทีของกระทรวงการคลังและกระทรวงไอซีที และความคืบหน้า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจะมีการจัดตั้ง กสทช.ขึ้นมาทำหน้าที่แทน กทช.

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/53 มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC)ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หลังปรับตัวลงมา 3 ไตรมาสติดกันแล้ว เป็นความสำเร็จจากการออกโปรโมชั่นกระตุ้นให้ลูกค้าเพิ่มการโทรภายในโครงข่ายและลดการโทรออกนอกโครงข่าย

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายทางการตลาดก็มีแนวโน้มลดลงด้วย เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ถูกชะลอไปในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งการเติบโตของบริการเสริม non-voice มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องด้วยความนิยมบริการอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือผ่าน EDGE และ GPRS และความนิยมเครื่องโทรมือถือประเภท smart phone ได้แก่ Blackberry และ iPhone ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีเครื่องทั้ง 2 ยี่ห้อจำหน่าย รวมทั้งยอดจำหน่าย air card และออกโปรโมชั่นสำหรับการใช้บริการข้อมูลอินเตอร์เน็ต เพื่อกระตุ้นการให้งานด้วย

ทั้งนี้ เราได้ปรับเพิ่มประมาณการ EBITDA margin จาก 31.3% เป็น 32.9% (เปรียบเทียบกับ 34.4% ในไตรมาส 1/53) เนื่องจากแนวโน้มการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี และคาดว่าปี 53 จะมีกำไร 3.48 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ น.ส.ธริศา ชัยสุนทรโยธิน ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) กล่าวว่า การที่รมว.คลังและรมว.ไอซีที ออกมาพูดเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมก่อนเปิดประมูล 3G เป็นเรื่องที่คาดเดาอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อมีใบอนุญาตใหม่ออกมาจะทำให้องค์กรของรัฐอย่าง CAT และ TOT สูญเสียรายได้ไป

แรงจูงใจให้เอกชนแปรสัญญาสัมปทาน มีสาระสะคัญ 2 เรื่อง คือ ให้อายุสัญญาสัมปทานที่ 15 ปี โดยเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในทุกโอเปอเรเตอร์ จากเดิมที่เต่ละรายอายุสัญญาสัมปทานเหลือไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ประเมินว่าเป็นการเทียบเคียงกับอายุสัญญาสัมปทานใบอนุญาต 3G ที่กทช.จะเปิดประมูล ส่วนที่สองมีการปรับลดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้จาก 20-25% เหลือ 12.5% นั้นเพื่อเป็นการโอเปอเรเตอร์ยังคงเลือกใช้คลื่นความถี่เดิม

แต่อย่างไรก็ตามประเมินว่ายังคงติดปัญหาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งทำให้การแก้ไขสัญญาสัมปทานไม่สามารถเกิดขึ้นทันเดือน ก.ย.53 และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีความเห็นอย่างไร แต่เบื้องต้นเชื่อว่ายังคงให้ความสนใจกับคลื่นความถี่ใหม่ 3G เพราะช่องสัญญาณกว้างกว่าและสามารถให้บริการที่หลากหลาย

ส่วนการที่ภาครัฐจะกดดันกทช.เพื่อให้เลื่อนเปิดประมูลให้อนุญาต 3G ออกไปเพื่อไม่ให้รัฐบาลสูญเสียรายได้นั้นมองว่าเป็นเรื่องยากเพราะกทช.ในฐานะเป็นองค์กรอิสสระและมีอำนาจเต็มในการออกใบอนุญาตและจะมีการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 25 มิ.ย.53 ไม่มีประเด็นปัญหาใหญ่เกิดขึ้นเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา เชื่อว่าการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G น่าจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในเดือน ก.ย.ได้

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ SCRI ระบุว่า DTAC ยังคงไม่เชื่อมั่นมากนักว่าการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่น IMT จะเกิดได้ตามที่ กทช. ตั้งเป้าหมายไว้และรู้สึกกังวลกับการดำเนินการที่มีเวลาค่อนข้างรัดตัวเพราะเหตุการณ์สำคัญจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันในเดือน ก.ย. ไม่ว่าจะเป็นการประมูลใบอนุญาตและการให้บริการคงสิทธิ์เลขหมายโทรศัพท์

DTAC ยังมีความไม่เห็นด้วยกับร่างสรุปข้อสนเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของอายุใบอนุญาต 15 ปีที่ยังสั้นไปเมื่อเทียบกับการลงทุนจำนวน และ การขยายโครงข่ายในครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปีที่ 4 ที่เปิดให้บริการ เพราะจะทำให้การลงทุนค่อนข้างสูงในช่วงดังกล่าว และ อาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน

และ DTAC ยังอยู่ระหว่างการปรับประมาณการงบลงทุน (Capex) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.6—4.0 หมื่นล้านบาทในช่วง 4 ปีแรกของการให้บริการ ซึ่งถือว่ามีจำนวนสูงกว่างบลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาวะการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ SCRI ประเมินว่าคณะกรรมการบริษัทจะยังไม่มีการพิจารณาปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่กำหนดจ่ายไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิในระยะเวลา 1—2 ปีข้างหน้าแม้ว่าบริษัทจะหลุดจากพันธะทางการเงิน(Covenant) ของภาระเงินกู้แล้วก็ตาม

ในไตรมาส 2/53 คาดว่า DTAC จะมีกำไรสุทธิ 2,237 ล้านบาทในงวด Q2/53 เพิ่มขึ้น 63% yoy เนื่องจากในปีก่อน DTAC ได้รับผลกระทบทั้งจากการเมือง และ มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ในปีนี้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นและรายได้จากการให้บริการ VAS ขยายตัวสูงขึ้นมากหลังจากที่บริษัทมียอดจำหน่าย Smart Phone เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการขาย BB และ IPHONE แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลง 8% qoq จากผลกระทบของฤดูกาลที่ทำให้รายได้ Voice ลดลงและการเมืองที่กดดันต่อรายได้ International Roaming

อย่างไรก็ดี EBITDA และ EBITDA Margin ยังคงปรับเพิ่มขึ้นจากการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ SCRI ยังแนะนำ “ซื้อ" DTAC มูลค่าเหมาะสม 48.00 บาท (ยังไม่รวมใบอนุญาต 3G)

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.บัวหลวงประเมินว่าการแปรสัญญาสัมปทานเกิดขึ้นยากเพราะกรอบเวลาก่อนเดือนก.ย.เหลือน้อยมาก และเอกชนต้องการประมูล 3G ก่อนจึงค่อยมาคุยเรื่องสัญญาสัมปทานเดิม โดยจุดยืนของ DTAC สำหรับการแปรสัญญาสัมปทานเหตุผลเดียวได้แก่ ความต้องการที่จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ 2G แลกกับการจ่ายเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว

แต่บริษัทก็ต้องการที่จะเป็นเจ้าของใบอนุญาต 3G ก่อนที่จะเข้าทำการเจรจาต่อรองเรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน ดังนั้นเราเชื่อว่ากรอบระยะเวลาสำหรับการแปรสัญญาสัมปทานที่กำหนดโดยกระทรวงการคลังที่ต้องการให้แปรสัญญาสัมปทานให้เสร็จสิ้นก่อนการประมูลใบอนุญาต 3G นั้นดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ในความเป็นจริง

หากรัฐบาลต้องการที่ต้องนำเอาโครงสร้างระบบภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมมาใช้กับผู้ได้รับใบอนุญาต 3G DTAC คาดว่าจะผลักภาระภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคโดยตรง เราประเมินว่าเป็นการเสี่ยงต่อภาพพจน์ของรัฐบาลเองอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีผลสำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้า

ด้านผลประกอบการไตรมาส 2/53 ดีกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า โดยบล.บัวหลวงประมาณการกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2/53 ที่ 2.12 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 55% YoY แต่ลดลง 13% QoQ การเพิ่มขึ้น YoY เป็นผลมาจากทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่การลดลง QoQ เป็นผลมาจากปัจจัยด้านฤดูกาล

ประมาณการใหม่สำหรับกำไรสุทธิไตรมาส 2/53 ในครั้งนี้ถือว่าสูงกว่าประมาณการเดิมที่เราเคยคาดไว้ที่ 1.7 -1.8 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ