3 โอเปอเรเตอร์โทรมือถือ จี้เร่งประมูล 3.9G, ค้านเกณฑ์ลดจำนวนไลเซ่นส์-แนะขยายเวลา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 25, 2010 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานกลุ่มงานพาณิชย์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)กล่าวในวงประชาพิจารณ์การเปิดประมูลใบอนุญาต 3.9G ในวันนี้ว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ควรจะเร่งการเปิดประมูลตามแผนที่วางไว้ในเดือน ก.ย. ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกฝ่ายมีความคิดเห็นพ้องต้องกัน เพราะหากรอบนี้ กทช.ไม่สามารถจัดการประมูลได้ ก็ คาดว่าการให้บริการ 3G จะต้องล่าช้าไปอีก 2-3 ปี

"กว่าที่คณะกรรมการกสทช.จะทำความเข้าใจและกำหนดการออกใบอนุญาตต้องใช้เวลา ถ้าไม่ทำใน 3-4 เดือนนี้ ก็คิดว่าจะดีเลย์ไปอีก 2-3 ปี เป็นอย่างน้อยเพราะต้องรอ กสทช.เป็นการเสียโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คิดว่าให้เริ่มไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขภายหลังดีกว่า เพราะกทช.มีอำนาจอยู่แล้ว ดีกว่ารอให้ทุกอย่างเพอร์เฟ็ค"นายธนา กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเป็นกรรมการที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว ซึ่งจะมีอำนาจโดยตรงในการจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เบื้องต้นวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าวประเมินว่าการจัดตั้งกสทช. น่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 54

นายธนา กล่าวถึงร่างสรุปหลักเกณฑ์ใบอนุญาต IMT ย่าน 2.1 เมกะเฮิรตซ์ที่ กทช.ได้ประกาศออกมาว่า ยังมีบางประเด็นที่ไม่ชัดเจน ได้แก่ คุณสมบัติบริษัทที่เข้าประมูล โดยเฉพาะประเด็นการครอบงำจากต่างชาติ ต้องการให้ชี้แจงในเรื่องนี้ในรายละเอียด และ ค่าธรรมเนียมยังไม่ชัดเจนว่าจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้น ยังเป็นว่าเรื่องสัญญาสัมปทานเดิม กทช.ไม่ควรนำเรื่องการแปรสัญญาสัมปทานมาเกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาต 3.9G ซึ่งเป็นของใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เห็นด้วยกับการแปรสัญญาสัมปทานการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมในช่วงนี้ เพราะรัฐมนตรีคลังและ ICT มาจากพรรคเดียวกัน ดังนั้น จึงน่าจะเป็นไปได้ง่ายที่จะมีการสรุปการแปรสัญญาสัมปทานและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในรัฐบาลชุดนี้

ส่วนเรื่องการยกเลิกสัมปทาน 2G ทันทีหลังหมดอายุสัมปทานเดิมนั้น บริษัทเห็นว่าเป็นเรื่องกระชั้นชิดเพราะบางรายมีอายุสัมปทาน 2 ปี เท่านั้น และการลงทุนวางโครงข่ายให้บริการระบบ 3G ยังต้องใช้เวลา

นายธนา ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดว่าหากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาตที่เปิดประมูลก็จะมีการลดใบอนุญาตลงเพื่อให้เกิดการแข่งขัน หรือประเด็นข้อกำหนด N-1 ซึ่งกำหนดให้จำนวนใบอนุญาตที่จะออกครั้งนี้น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 1 ใบเพื่อป้องกันการสมยอม เพราะอาจมีผู้หวังผลประโยชน์จากใบอนุญาตที่เหลือไว้

ด้านนายอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)กล่าวว่า โดยรวมก็พอใจกับร่าง IM ครั้งนี้ แต่ก็เห็นว่ายังขาดรายละเอียดบางอย่าง ซึ่ง กทช.มีการบ้านที่ยังต้องกลับไปทำอีกมากก่อนการเปิดประมูล และเห็นด้วยว่าให้เปิดประมูลใบอนุญาตขนาด 15 เมกะเฮิรตซ์พร้อมกันครั้งเดียวทั้ง 3 ใบ เพราะผู้ประกอบการจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน ขณะที่ร่างเดิมกำหนดจำนวนใบอนุญาต 10 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบ 15 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ ที่ไม่เหมาะสมและไม่ดีกับผู้ประกอบการรายเล็ก

ขณะที่รูปแบบการประมูลที่กำหนดว่าหากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย ก็จะเปิดประมูลใบอนญาตจำนวน 2 ใบนั้น มองว่ารูปแบบนี้จะเกิดประโยชน์ต่อ กทช.มากกว่าเพราะได้เงินจากการประมูลไลน์เซ่นมากขึ้น แต่ในส่วนของประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไร เพราะการที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นจะส่งผลต่อผู้บริโภค จึงเห็นว่าควรเปิดกว้างในการเปิดพร้อมกันทั้ง 3 ใบ

กรณีที่ต่างชาติจะเข้าร่วมประมูลเข้ามาจะดีต่อประชาชนในแง่ของการแข่งขันแต่ละราย แต่การเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการต่างชาตินั้น กทช.จะมีความเข้มงวดอย่างไร

นายอธึก กล่าวต่อว่า กทช.ควรต้องทำกฎเกณฑ์ให้ละเอียดก่อนเปิดประมูล ส่วนราคาที่เปิดประมูลนั้นทุกฝ่ายต่างต้องการราคาถูกแต่มองว่าการให้ประโยชน์กับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ทั้งนี้ต้องการให้เปิดประมูลใบอนุญาตทัน เดือน ก.ย.

นอกจากนี้ นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้สรุปเงินลงทุนใบอนุญาต 3.9G เพราะต้องการให้รายละเอียดชัดเจน แต่มองว่าการให้อายุสัมปทานแค่ 15 ปีน้อยเกินไป เพราะการลงทุนด้านโทรคนาคมนั้นต้องใช้เวลานาน และอายุสัญญาที่เหมาะสมอยู่ที่ 20-30 ปี เพราะไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่เร็วเกินไป

ส่วนการเสนอให้มีการใช้โครงข่ายร่วมกันเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรบังคับ น่าจะปล่อยให้เป็นกลไกเสรี เพราะผู้ประกอบการต้องการต้นทุนต่ำอยู่แล้วในการดำเนินธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ