บล.ทรีนิตี้ เล็งเจาะกลุ่มลูกค้าระยะกลาง-ยาว รับมือเปิดเสรีคอมมิชชั่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 28, 2010 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเจาะกลุ่มลูกค้าที่ลงทุนซื้อขายหุ้นระยะกลาง-ยาว มากขึ้น เนื่องจากมองว่าลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมีอยู่ในระบบแต่ไม่ได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง และเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพการลงทุนสูงและพร้อมในการลงทุนหากได้รับผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ อีกทั้งยังเป็นการรองรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นใน 2 ปีข้างหน้าที่จะมีการแข่งขันเรื่องราคาที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเสนอเครื่องมือและบริการที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการลงทุน ด้วยการช่วยให้ลูกค้าลงทุนอย่างมีหลักการ มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีเจ้าหน้าที่การตลาดคอยปรับปรุง(UPDATE)ข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเครื่องมือดังกล่าวจะเห็นการเข้าให้บริการกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวภายในไตรมาส 3/53

"เราพยายามแก้โจทย์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในอนาคต ซึ่งการสร้างความแตกต่างหรือความพิเศษในการนำเสนอบริการสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยปรับให้เหมาะสมและเข้ากับพฤติกรรมการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มกลาง-ยาว ที่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งกลุ่มนี้กลับพร้อมในเรื่องเม็ดเงินที่จะลงทุนและพร้อมจ่ายค่าคอมมิชชั่นในอัตีราที่สูง" นายชาญชัย กล่าว

ด้านนายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการบริหาร บล.ทรีนิตี้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมองว่าจะมีความผันผวน ซึ่งในไตรมาส 3/53 พบแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศทั้งในจีนและยุโรป ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะยุโรปจะมีการรีไฟแนนซ์หนี้ประมาณ 7.5 แสนล้านล้านยูโรในครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงแนะนำให้หาจังหวะเข้าซื้อหุ้นเมื่ออ่อนตัวในช่วงไตรมาส 3/53 ถึงต้นไตรมาส 4/53 เนื่องจากคาดว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยจะดีในปี 54 จากผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ในตลาดยังอยู่ในเกณฑ์ดี สภาพคล่องส่วนเกินจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นได้รับความสนใจมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 54 จะขึ้นไปแตะ 853 จุด และอาจเห็นการปรับขึ้นแรงไปที่ระดับ 920 จุดได้ นอกจากนี้คาดว่าจะเห็นกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนที่ย้ายจากประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงมาสู่ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลดีตาม

ทีมวิเคราะห์ มีการประเมินเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรปพบว่า ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลร้ายแรงต่อความตกต่ำของเศรษฐกิจโลก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินยุโรป ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังการเก็งกำไรใน Commodities Currencies ที่ลดลงและการให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ลดลง

และคาดว่าวิกฤติดังกล่าวจะใช้เวลาในการแก้ปัญหาซึ่งจุดสูงสุดของปัญหาจะเกิดขึ้นในปี 55 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อาจจะเข้ามาควบคุมนโยบายทางการคลังและการเงินของประเทศต่างๆในยุโรปมากขึ้นและในช่วงปลายปีธนาคารพาณิชย์จะถูกบังคับใช้กฎบาเซิล II ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการตั้งสำรองที่สูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ