นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประจำไตรมาสร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนว่า ก.ล.ต. สนับสนุนให้สมาคมฯกำหนดแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ให้เสร็จภายในปี 53 เนื่องจากนโยบายของ ก.ล.ต. ที่ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ บลจ. เพื่อรองรับการเปิดเสรีใบอนุญาต โดยจะเน้นผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ บลจ. มีอิสระในการบริหารจัดการลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ บลจ. จะต้องทดสอบแนวทางดังกล่าวให้พร้อมใช้ได้ภายในกลางปี 54 เพื่อรองรับการเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 55
นายธีระชัย กล่าวว่า การกำหนดแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน สมาคมฯควรพิจารณาถึงแนวปฏิบัติทั้งของ ก.ล.ต. และต่างประเทศควบคู่กัน ซึ่งแนวทางบริหารความเสี่ยงนี้ต้องครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานบริหารความเสี่ยงที่มีความเป็นอิสระ และระบบบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ความเสี่ยง ด้านตลาด ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
สำหรับการลงทุนในตราสารที่ซับซ้อนหรือการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศที่ซับซ้อน ก.ล.ต. ยังได้ให้สมาคมกำหนดแบบประเมินตนเอง(self assessment checklist) เพื่อให้ บลจ. ใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินความพร้อม ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่า บลจ.ได้ศึกษาและทำความเข้าใจในลักษณะสำคัญ ความเสี่ยงและผลตอบแทนของตราสารหรือกองทุนรวมนั้นอย่างถ่องแท้แล้วก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ สมาคมได้แจ้งความคืบหน้าในการยกระดับสมาคมขึ้นเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (self regulatory organization: SRO)ว่า ได้มีการซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องแนวคิดและแผนดำเนินการกับสมาชิกแล้ว ซึ่งสมาคมมั่นใจว่าจะสามารถปรับโครงสร้างให้เป็น SRO ได้แล้วเสร็จภายในปี 53 และเริ่มดำเนินการเป็น SRO ได้ตั้งแต่ต้นปี 54
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. และสมาคมได้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติตามแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจของ บลจ. จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่ง บลจ. แต่ละแห่งประสบปัญหาแตกต่างกัน ก.ล.ต. จึงขอให้สมาคมรวบรวมประสบการณ์ของ บลจ. ทุกแห่งเพื่อนำไปปรับปรุงแผนให้เหมาะสมและรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นให้ดียิ่งขึ้น
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมและสมาชิกทุกรายต้องเร่งเตรียมตัวให้พร้อมรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในเรื่องความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในตราสารต่างๆ ที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงกฎระเบียบของประเทศอื่นที่สมาชิกสามารถเข้าไปแข่งขันได้ โดย บลจ. ต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงในการจัดการลงทุนให้ครอบคลุมและรัดกุม
ส่วนการปรับโครงสร้างสมาคมให้เป็น SRO เป็นเรื่องที่สมาคมให้ความสำคัญลำดับต้นๆ โดยมีแผนจะเริ่มปฏิบัติงานเป็น SRO ในปี 54 เพื่อให้มีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ปีก่อนการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์ โดยมีบางหน้าที่ที่จะต้องทำเพิ่มเติมเมื่อเป็น SRO เช่น การให้ความเห็นชอบบุคลากรและการกำกับดูแลเป็นด่านหน้า เนื่องจากเมื่อเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์แล้วจะต้องมี บลจ. ใหม่ เข้ามาอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจมีทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ SRO จึงต้องพร้อมและสามารถทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นใน SRO ได้