ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดลบ 46.05 จุด หลังตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย.น่าผิดหวัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday July 3, 2010 06:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) หลังจากรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานที่ร่วงลง ซึ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าอาจชะลอตัว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 46.05 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 9,686.48 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 4.79 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 1,022.58 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 9.57 จุด หรือ 0.46% ปิดที่ 2,091.79 จุด

โดยดาวโจนส์ปิดในแดนลบเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการปิดลดลงติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยปิดลบ 8 วันซ้อนเมื่อเดือนต.ค.2551 สืบเนื่องจากที่เลห์แมน บราเธอร์สล้มในเดือนก.ย. 2551

ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบางก่อนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้เนื่องในวันชาติสหรัฐ 4 กรกฎาคม

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) ในเดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลง 125,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 110,000 ตำแหน่ง

ตัวเลขจ้างงานที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวเพื่อการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐ ประจำปี 2553 (Census 2010) จำนวน 225,000 ตำแหน่ง

ขณะที่การจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 83,000 ตำแหน่ง แต่น้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ บ่งชี้ว่าธุรกิจต่างๆยังคงลังเลที่จะจ้างพนักงานเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน

แม้อัตราว่างงานเดือนมิ.ย.จะปรับตัวลดลงเหนือความคาดหมายจาก 9.7% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 9.5% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน แต่อัตราว่างงานที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากประชาชน 652,000 คนเลิกหางานและทำให้ไม่ถูกรวมอยู่ในกำลังแรงงาน (labor force) ซึ่งประชาชนที่ไม่หางานทำจะไม่ถือว่าเป็นผู้ว่างงาน

ทั้งนี้ รายงานตัวเลขจ้างงานและอัตราว่างงานรายเดือนถือเป็นข้อมูลที่ได้รับการจับตามากที่สุดข้อมูลหนึ่งในฐานะที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสหรัฐ อัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนของเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราว่างงานสูงทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่องถึงยอดค้าปลีก และเมื่อพิจารณาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐ จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจไม่แข็งแกร่งและยั่งยืน

นอกจากข้อมูลในตลาดแรงงานที่เพิ่มความมืดมนให้กับตลาดแล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานในเดือนพ.ค.ร่วงลง 1.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 1% ในเดือนเม.ย. โดยเป็นการปรับตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2552 และแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ