นายทศพล จินันท์เดช นักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.เอ.เจ.พลาสท์(AJ) ผู้ผลิตแผ่นฟิล์มเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในปี 53 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตประมาณ 20% จากปีก่อน หรือคิดเป็นปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 85,000-90,000 ตัน และจะรักษาการทำกำไรสุทธิปีนี้ใกล้เคียงปี 52 ที่มีกำไร 288 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/53 คาดว่าจะรักษาการทำกำไรไม่ต่ำกว่าไตรมาส 1/53 ที่มีกำไรกว่า 79 ล้านบาท ขณะที่คาดว่ายอดขายจะเติบโต 5% จากไตรมาส 1/53
นายทศพล กล่าวว่า ในปีนี้ถือเป็นขาขึ้นของธุรกิจแผ่นฟิล์ม ซึ่งเป็นไปตามวัฎจักรของธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดแผ่นฟิล์มอ่อนที่มีการเติบโตดีมากจากอานิสงส์การส่งออกและอุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารได้หันมาปรับเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์จากเดิมที่เคยใช้เป็นแกลลอนพลาสติก กระป๋อง หรือ ปี๊ป ก็หันมาใช้ซองอ่อนกันมากขึ้น
"ในแง่ของยอดขายในไตรมาส 2/53 ถือว่าทะลุเป้าหมาย แต่ในแง่ของรายได้เราคงประเมินเป็นตัวเลขยาก เพราะมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องได้...ปีนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของตลาดแผ่นฟิล์ม ซึ่งทำให้เราได้รับผลดีโดยตรงทั้งจากการส่งออก และธุรกิจอาหาร" นายทศพล กล่าว
อนึ่ง ในปี 52 บริษัทมีรายได้จากการขาย 4,439.95 ล้านบาท กำไรสุทธิ 288.05 ล้านบาท
นายทศพล กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทไม่มีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม แต่ได้เน้นไปที่การเพิ่มสายการผลิตเครื่องเคลือบอลูมิเนียมเพื่อผลิตแผ่นฟิล์มพิเศษรองรับความต้องการของตลาดและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า โดยได้เริ่มการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นปี 53 ซึ่งตลาดให้การตอบสนองที่ดี
บริษัทมีงบลงทุน 600 ล้านบาทในปีนี้เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรไปแล้ว 1 เครื่องเริ่มติดตั้งในปลายปี 53 และคาดว่าเริ่มการผลิตได้ในปลายไตรมาส 1/54 และล่าสุดที่คณะกรรมการอนุมีติการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่อีก 1 เครื่อง วงเงิน 700 ล้านบาทจะสั่งซื้อในเดือน ก.ค. คาดว่าจะเริ่มติดตั้งเครื่องจักรใหม่ได้ในปลายปี 54 และเริ่มการผลิตต้นปี 55 ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.1 แสนตัน/ปี เป็น 1.3 แสนตัน/ปี
นายทศพล กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงสัดส่วนการส่งออกไว้ที่ 60% ในประเทศ 40% เพื่อบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่แม้การคงสัดส่วนส่งออก แต่ยอดขายของบริษัทยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในยุโรป แม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง กลับมองว่าเป็นผลดีมากกว่า
"ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปไม่ได้กระทบทำให้คำสั่งซื้อชะลอลง แต่มองว่า กลับเป็นผลดี เพราะเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ คนก็กินอาหารที่บ้านมากขึ้น ส่วนค่าเงินยูโรไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเช่นกัน" นายทศพล กล่าว