นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท.(PTT)คาดว่า ในสัปดาห์นี้จะได้รับรายงานของคณะกรรมการไต่สวนกรณีน้ำมันรั่วที่แหล่งมอนทาราจากรัฐบาลออสเตรเลีย แต่คาดว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะไม่ถึงกับเรียกคืนสิทธิการดำเนินการหรือสัมปทานในแหล่งดังกล่าว และเชื่อว่าหลังจากรายงานดังกล่าวออกมาก็น่าจะคลายความวิตกได้
ขณะที่เรื่องการควบรวมกิจการของ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR)และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการทั้ง 3 บริษัทเพื่อขอความเห็นชอบ ได้แก่ PTT, PTTAR และ IRPC ซึ่งจะมีการข้อมูลงบการเงินในไตรมาส 2/53 เข้ามาด้วย
นายเทวินทร์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐตรึงราคา NGV และ LPG ต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีนี้จากเดิม ส.ค.53 บริษัทจะคงรับภาระขาดทุนต่อไป โดยราคาต้นทุน 14 บาท/กก.แต่ขายในราคา 8.50 บาท/กก.เท่ากับขาดทุน 6 บาท/กก.ทำให้ต้องชะลอการวางท่อเส้นที่ 4 ซึ่งมีแผนลงทุนในปี 56 กำลังการผลิต 700 ล้าน ตร.ฟุต/ปี และบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงคลังสินค้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ต้องกลับมาทบทวนว่า ปตท.จะสามารถแบกรับภาระเรื่องนี้ได้เท่าไร และภาครัฐจะต้องชดเชยให้อย่างไร
ขณะที่คาดว่าในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โรงแยกก๊าซที่ 6 ของ ปตท.ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดจะสามารถเดินเครื่องได้ หลังจากผลปรากฎว่าไม่ได้อยู่ใน 18 กิจกรรมของโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รวบรวมไว้ ทั้งนี้ โรงแยกก๊าซที่ 6 จะทำให้กำลังการผลิตก๊าซเพิ่มเป็น 7 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ 4 ล้านตันต่อปี
"ราคาเหุ้นกลุ่มปตท. underperform เห็นว่ามาจากเรื่องตรึงราคาก๊าซ เรื่องมาบตาพุด และเรื่องมอนทารา ทำให้มีความไม่มั่นใจอยู่มากกดดันราคาหุ้นอยู่ ประเด็นมาบตาพุดถ้าชัดเจนมากขึ้น โรงแยกก๊าซ 6 เราหวังว่าจะทำได้ในสิ้นปีนี้ เรื่องมอนทาราที่กระทบกับ ปตท.สผ.คิดว่าเมื่อมีความชัดเจนจะทำให้ความกังวลหายไป"นายเทวินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนการลงทุน 5 ปี(53-57) งบลงทุน 2.43 แสนล้านบาท โดยปี 53 ลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท, ปี 54 ลงทุน 7.35 หมื่นล้านบาท , ปี 55 ลงทุน 4.27 หมื่นล้านบาท, ปี 56 ลงทุน 2.64 หมื่นล้านบาท และ ปี 57 ลงทุน 2.56 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายการสำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม