กทช.กำหนดให้ผู้ประกอบการรายเดิมทำแผนคืนคลื่นความถี่ก่อนได้ไลเซ่นส์ 3G

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 7, 2010 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กทช.มีมติปรับปรุงร่างประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMTย่าน 2.1GHz หรือใบอนุญาต 3G มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดมูลค่าเริ่มต้นของการประมูลเป็น 1.28 หมื่นล้านบาท และ ข้อจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (spectrum cap)

พร้อมมั่นใจว่า กทช.จะสามารถเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ภายในเดือน ก.ย.ได้อย่างแน่นอน และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้มากกว่า 4 ราย เพราะเงื่อนไขการประมูลจูงใจมากขึ้น เช่น การลดจำนวนวงเงินวางหลักประกันเหลือ 10% หรือ 1,280 ล้านบาท จากเดิมกำหนด 5-6 พันล้านบาท เป็นต้น

สำหรับการกำหนดเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ เพิ่มเติมจากการกำหนดให้ยุติการประกอบธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่ภายใต้การอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาจากหน่วยงานของรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดให้ผู้ที่รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนการส่งคืนคลื่นความถี่ ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการสร้างโครงข่าย (roll out plan) โดยผู้รับใบอนุญาตจะทยอยส่งคืนตามพื้นที่เปิดให้บริการภายใต้ใบอนุญาตใหม่

"ผู้ชนะประมูล 3G ต้องมีแผนส่งคืนคลื่นความถี่ก่อนได้รับใบอนุญาต แต่ยังคงมีสิทธิใช้งานต่อได้จนถึงหมดอายุสัมปทาน...เป็นความชัดเจนที่ก้าวจากธุรกิจสัญญาสัมปทาน ไปสู่ธุรกิจที่ได้ใบอนุญาต"พ.อ.นที กล่าว

นอกจากนี้ กทช.ต้องการให้ผู้ประกอบการในปัจจุบันใช้คลื่นตามจำเป็น หากมีการใช้งานน้อยกว่าคลื่นที่มีอยู่ให้คืนคลื่นความถี่ ไปยังเจ้าของสัมปทานคือ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบาย กทช.ให้การใช้คลื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ถือครองคลื่นความถี่ 2x15 MHz สำหรับย่าน 2.1GHz ต่อราย ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 3G

ปัจจุบัน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส มีคลื่นความถี่ 20 MHz บนย่าน 900 MHz บริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC มีคลื่นความถี่ 12.5 MHz ย่าน 1800 MHz ส่วน บมจ.โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) มีคลื่นความถี่ 10 MHz บนย่าน 850 MHz และ 25 MHz บนย่าน 1800 MHz ขณะที่ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด มีคลื่นความถี่ 12.5 MHz ย่าน 1800 MHz

"คิดว่าเรื่องนี้กระทบกับเอไอเอสกับดีแทค ที่มีคลื่นความถี่เกินความจำเป็น แต่ก็ต้องพิสูจน์กันว่าคลื่นความถี่นั้นมีลูกค้าใช้งานอยู่หรือไม่" พ.อ.นที กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้รับใบอนุญาต 3G สามารถโรมมิ่งกับ 2G ได้ และยังสามารถเช่าโครงข่ายเดิมได้ โดยในวันที่ 14 ก.ค.นี้ กทช.จะมีการจัดประชุม Focus group เพื่อสร้างความชัดเจนกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและเจ้าของสัญญาสัมปทานที่เป็นเจ้าของโครงข่าย ทั้งทีโอที่ และ กสท.

ส่วนปลายก.ค.นี้จะจัดประชุม Focus group เรื่องการเช่าใช้โครงข่าย (MVNO) ซึ่ง กทช.กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต 3G ต้องจัดสรรให้เช่าในสัดส่วน 40%ของคลื่น เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่า ซึ่งจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ