บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) ที่ระดับ “AA" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่ปลอดหนี้ ตลอดจนการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ ความหลากหลายของสินค้าและตราสัญลักษณ์สินค้า ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์สโตร์ รวมถึงความเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ของประเทศในสินค้าประเภทชุดชั้นในสตรี เครื่องแต่งกายบุรุษ และเครื่องสำอาง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงระดับผลกำไรที่ต่ำซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของธุรกิจจัดจำหน่าย รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ และความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มสหพัฒน์ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดที่แข็งแกร่งในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เอาไว้ได้แม้จะอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันสูงก็ตาม โดยที่ความหลากหลายของสินค้าและนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ส่งเสริมสถานะอันดับเครดิตของบริษัท
ICC เป็นผู้จัดจำหน่ายและค้าส่งสินค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ โดยดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค เช่น ชุดชั้นในสตรี เสื้อผ้า และเครื่องสำอางภายใต้ตราสัญลักษณ์จากต่างประเทศและของบริษัทเองรวมแล้วมากกว่า 80 ตรา โดยตราสัญลักษณ์จากต่างประเทศที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ได้แก่ Wacoal, Arrow, Lacoste, Guy Laroche และ ELLE เป็นต้น
สินค้าของบริษัทมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ และร้านค้าต่างๆ กว่า 3,600 แห่งทั่วประเทศ ด้วยความสามารถและประสบการณ์ที่ยาวนานของคณะผู้บริหารและความร่วมมือที่ดีจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าและผู้จัดหา (Supplier) ภายในกลุ่มสหพัฒน์ทำให้บริษัทสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำตลาด
ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ครองตลาดชุดชั้นในสตรีทั้งในตลาดระดับกลางถึงบนโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดผ่านห้างสรรพสินค้ารวมมากกว่า 60% ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ Wacoal เป็นสินค้าหลักด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 57% หรือคิดเป็นสัดส่วน 22% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2552 และไตรมาสแรกของปี 2553 ส่วนเครื่องแต่งกายบุรุษนั้นสร้างยอดขายรวมในสัดส่วนค่อนข้างสูงถึง 26%-27% ของรายได้รวมในปี 2552 และไตรมาสแรกของปี 2553 โดยมี Lacoste และ Arrow เป็นสินค้าหลักในกลุ่มนี้
ในขณะที่เครื่องสำอางสร้างรายได้ประมาณ 13% ของรายได้รวมในช่วงเดียวกัน โดยมีเครื่องสำอางบีเอสซี คอสเมโทโลจีเป็นสินค้าหลักซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี
ICC ดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังมาโดยตลอด ซึ่งทำให้บริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมากและปลอดภาระหนี้มาตั้งแต่ปี 2545 โดยมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในระดับต่ำ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการค้ำประกันบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบจัดหาสินค้าและวัตถุดิบด้วย อย่างไรก็ตาม ภาระค้ำประกันดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมียอดคงเหลือ 152 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 เปรียบเทียบกับยอดคงเหลือ 322 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552
เศรษฐกิจที่เปราะบางในปี 2552 มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้รายได้และอัตราการทำกำไรของบริษัทหดตัวลง โดยยอดขายรวมในปี 2552 อยู่ที่ 10,649 ล้านบาท ลดลง 2.7% จากปี 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายของบริษัทในปี 2552 ลดลงมาอยู่ที่ 4.9% เมื่อเทียบกับระดับที่สูงกว่า 6% ต่อปีในช่วงปี 2547-2551 อัตราส่วนกำไรที่ลดลงเกิดจากสาเหตุหลักคือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดเชิงรุก รวมทั้งการเพิ่มจำนวนพนักงานขายเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีรายได้ถึง 2,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.21% ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อต่อเนื่องว่าส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในทางลบ วิกฤติการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ซึ่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ราชประสงค์ต้องปิดกิจการนานเกือบ 1 เดือน ความวุ่นวายทางการเมืองและเหตุการณ์เผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบริษัททั้งจุดขาย ร้านค้า และสินค้าคงคลังรวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังประมาณการความสูญเสียด้านรายได้จากการขายอีกประมาณ 100 ล้านบาทในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ด้วย อย่างไรก็ตาม การมีช่องทางกระจายสินค้าที่หลากหลายทั่วประเทศทำให้บริษัทมีรายได้จากร้านค้าในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดซึ่งสามารถบรรเทาผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงในพื้นที่ราชประสงค์ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนกระตุ้นยอดขายทั้งปีโดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่น่าสนใจยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มกิจกรรมทางการตลาดให้ถี่ขึ้นเพื่อดึงลูกค้าและสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคให้มากขึ้นด้วย
สภาพคล่องของบริษัทยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากบริษัทยังคงสามารถดำรงสภาวะปลอดหนี้ บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 833 ล้านบาทในปี 2552 เปรียบเทียบกับระดับเฉลี่ยที่ 890 ล้านบาทต่อปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินทุนจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาสแรกของปี 2553 อยู่ที่ 166 ล้านบาท เติบโต 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรลดลงเป็นลำดับเนื่องจากบริษัทมีฐานเงินทุนเพิ่มขึ้นและคงระดับการจ่ายเงินปันผลในระดับปานกลาง
แม้ว่าบริษัทและบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มสหพัฒน์จะมีโครงสร้างการถือหุ้นที่ไขว้กันค่อนข้างซับซ้อน แต่การทำธุรกรรมระหว่างกันของบริษัทในกลุ่มสหพัฒน์ก็เป็นไปตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)