พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และประธานคณะทำงาน 3G กล่าวถึงแนวคิดการแปรรูปสัมปทานว่า ถ้ารัฐบาลจะดำเนินการก็ทำได้อยู่ แต่ในส่วนของกทช.ที่จะออกใบอนุญาต 3G ถือว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน และเชื่อว่าจะไม่ทำให้กรอบเวลาการประมูลที่กำหนดไว้ในเดือนก.ย.จะล่าช้าด้วย
"กรอบการให้ใบอนุญาต 3G ยังเหมือนเดิม คือเปิดประมูลเดือนก.ย.นี้ และจะให้บริการเต็มรูปแบบในเชิงพาณิชย์ได้ในปีหน้า" พ.อ.นที กล่าว
ส่วนความเห็นที่ต้องการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากเดิม 6% ต่อปีเป็น 12.5% เท่ากับการแปรสัมปทาน กทช.ก็ไม่ขัดข้อง เนื่องจากค่าธรรมเนียมภายใต้ใบอนุญาต 3G กำหนดให้เอกชนต้องจ่ายค่า License Fee ในอัตรา 2% ของรายได้รวมต่อปี เงินสมทบกองทุนสาธารณะบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) อีก 4% แต่หากจะดึงให้ค่าธรรมเนียมขึ้นไปที่ 12.5% ก็สามารถคำนวณได้ เพราะราคาค่าใบอนุญาตเริ่มต้น 12,800 ล้านบาท หากคิดเฉลี่ยรายปีครบทั้ง 15 ปีตามอายุ ก็จะมีเท่ากับ 6-7% ซึ่งเมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมเดิมก็เป็น 12.5% เช่นเดียวกัน
พ.อ.นที กล่าวถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) จากโอเปอร์เรเตอร์ในวันนี้ เกี่ยวกับการกำหนดข้อจำกัดเชิงปริมาณ (Spectrum Cap) การถือครองคลื่นความถี่ ตามร่างประกาศฯ กทช.นั้น ทาง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ไม่เห็นด้วยมากที่สุดกับการที่ กทช.จะขอคืนคลื่นความถี่ 2G หลังการได้ใบอนุญาต
เนื่อจาก DTAC มีคลื่นความถี่ในมือมากมีโอกาสพัฒนาเป็น 4G ได้ แต่กทช.ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมจึงต้องเริ่มจากการมีคลื่นความถี่ที่เท่าเทียมกันก่อน ไม่เช่นนั้น DTAC จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นและต้องการให้พัฒนา 3G อย่างแท้จริงด้วย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการถือครองคลื่นความถี่ คือ ให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องคืนคลื่นความถี่ 2G ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมตาม Roll out การให้บริการบนโครงข่าย 3G คือเริ่มให้บริการโครงข่าย 3G ในพื้นที่ใดก็ต้องคืนคลื่นความถี่ 2G บนพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างแท้จริง และเริ่มต้นใบอนุญาตบนพื้นฐานคลื่นความถี่เดียวกัน เพราะปัจจุบันเอกชนที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมมีคลื่นความถี่ภายใต้การบริหารไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ บมจ.โทเทิลแอ็คเซ็ท คอมมูนิเคชั่น มีคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมกว้างกว่าผู้ให้บริการรายอื่น โดยครอบคลุมคลื่น 1800 และคลื่น 850 เมกกะเฮิร์ต และมี LTE ซึ่งสามารถพัฒนาเป็น 4G ได้ จึงทำให้ไม่ต้องการคืนคลื่นความถี่หลังการพัฒนาตามระบบ 3G
สำหรับความกังวลที่ว่า หากคืนคลื่นกลับไปยังเจ้าของสัมปทานคือบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม แล้ว ผู้ประกอบการโครงข่ายจะไม่ได้คลื่น 2G มาเปิดให้บริการแก่ลูกค้าที่มีอยู่นั้น กทช.ได้ชี้แจงไปแล้วว่า การคืนคลื่นเป็นไปตามแผนการวางโครงข่าย 3G (Roll out Plan) ดังนั้น ข้อผูกพันจะเป็นไปตามสัญญาสัมทปาน 2G ตามเดิม โดยทีโอที และกสท ฯจะไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการใช้คลื่น
ส่วนการกำหนดการถือครองคลื่นความถี่ ไม่ใช่ข้อกำหนดที่กทช.ร่างขึ้นใหม่ แต่เป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดในการส่งคลื่นความถี่เมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทาน ตามร่างประกาศ กทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 2100 สำหรับการกำหนดการถือครองคลื่นความถี่ อยู่ในข้อ 9.4 นั้น ระบุให้ผู้ชนะการประมูลที่ใช้คลื่นความถี่อื่นใดสำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่แข่งขันในตลาดเดียวกันกับกิจการโทรศัพท์ที่ IMT จะต้องดำเนินการส่งคืนอำนาจบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่ถืออยู่เดิมนั้น โดยจัดทำเป็นแผนส่งคืนคลื่นความถี่ และดำเนินการส่งคืนคลื่นความถี่ดังกล่าว ก่อนจะนำคลื่นความถี่ที่ได้รับจัดสรรใหม่ออกบริการแก่ประชาชน