(เพิ่มเติม) กทช.มั่นใจเปิดประมูลไลเซ่นส์ 3G ได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ย.53

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 21, 2010 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และประธานคณะทำงาน 3G กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะประกาศ หลักเกณฑ์การประมูล 3G ในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะประกาศเชิญชวนประมาณต้นเดือนส.ค. และปลายส.ค.จะให้เอกชนเข้ามายื่นขอประมูล และจะสามารถเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรศัพม์เคลื่อนที่ระบบ 3G ได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ย.

ทั้งหมดเป็นไปตามแผนงานที่กทช.วางไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

"นายกฯบอกกับเราให้เดินหน้า(ประมูลใบอนุญาต 3G) ไปตามกรอบเวลาเดิม เป็นการการันตีว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทาน 2G ไม่ได้ขัดขวาง ทั้งสองเรื่องเดินหน้าขนานกันไป อย่าเอา 2 อย่างมาพ่วงกัน ไม่อย่างนั้นเรื่องในอดีตก็แก้ไม่ได้ อนาคตก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องออกใบอนุญาต 3G ตามที่กำหนดไว้"พ.อ.นที กล่าว

ทั้งนี้ ในวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้หารือกับ กทช.ประเด็นหากมีการยกเลิกสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และจะออกใบอนุญาตแทนได้หรือไม่นั้น

พ.อ.นที กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ตามมาตรา 80 ระบุไว้ว่า หากคู่สัญญาสัมปทานสามารถตกลงกันได้ที่จะยกเลิกสัญญาสัมปทาน กทช.ก็สามารถให้ใบอนุญาตได้อัตโนมัติตามอายุที่เหลือของสัญญาสัมปทาน

แต่หากเป็นกรณีอื่นต้องกลับมาดูข้อกฎหมายเพิ่มเติมว่าจะใช้แนวทางอย่างไร หรือมีช่องทางใดที่จะดำเนินการใด เพราะที่ผ่านมาสัญญาสัมปทานที่เอกชนได้รับไม่มีความเท่าเทียมกัน ได้แก่ ค่าตอบแทนที่หน่วยงานรัฐได้รับ, คลื่นความถี่ และ การสิ้นสุดสัญญา ซึ่งคณะทำงานฯก็ต้องหาข้อชัดเจนเรือ่งดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขสัญญาสัปมทานขึ้นอยู่กับคณะทำงานที่มี รมว.ไอซีทีเป็นประธาน และเห็นว่าควรจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 20 ส.ค.นี้เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับเอกชนในการพิจารณาเข้ายื่นซองประมูลใบอนุญาต 3G ที่กำหนดให้ยื่นซองภายในปลายเดือน ส.ค.นี้

ด้านนายจุติ กล่าวว่า ในเย็นวันนี้คณะทำงานจะประชุมกันเป็นครั้งแรก ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากก.คลังและ ก.ไอซีที และจะพยายามหาข้อสรุปให้เสรํจภายใน 30 วัน โดยคณะทำงานจะเจรจากับเอกชน 3 ราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) , บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั้น (TRUE) ว่าจะรับข้อเสนอการเปลี่ยนสัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยรายใดรายหนึ่งก็ถือว่าเรื่องนี้ต้องยุติ

" เราต้องไปเจรจากับเอกชน 3 ราย ถ้าเอกชนไม่เห็นพ้องกัน หรือรายใดรายหนึ่งไม่เห็นด้วย ทุกอย่างก็จบ เอกชนทั้ง 3 รายต้องยอมรับทั้งหมด เพราะต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกัน ถ้าแต่ละบริษัทคิดถึงประโยชน์ของบริษัทก็มีปัญหา แต่ถ้าทุกคนคิดถึงประเทศก็จะเจรจากันง่ายขึ้น" รมว.ไอซีที กล่าว

นายจุติ คาดว่าคณะทำงานชุดนี้จะประชุมกันอีก 2-3 ครั้ง จากนั้นหารือกับ กทช. แล้วจึงไปเจรจากับเอกชน หลังจากจะเสนอโมเดลเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินการจะต้องสอดคล้องกับการดำเนินการประมูลใบอนุญาต 3G ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ