รมว.พลังงาน เผย บมจ.ปตท.(PTT) เตรียมเซ็นสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติในแปลง M9 หรือโครงการ Zawtika ของประเทศพม่า กับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) และ Myanma Oil and Gas Enterprise(MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของพม่า ในวันพรุ่งนี้(30 ก.ค.53)
"นับว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทยและความสำเร็จในการบุกเบิกแหล่งพลังงานต่างแดน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะจะมีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ในแปลง M9 หรือโครงการ Zawtika ของพม่า" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าว
โดยแหล่ง M9 มีปริมาณก๊าซสำรองพิสูจน์แล้วขั้นต้น 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถใช้ในประเทศไทยได้อย่างน้อยอีก 30 ปี ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายตามสัญญา(DCQ) จำนวน 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเริ่มผลิตในปี 2556 และส่งให้ไทยจำนวน 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และขายในสหภาพพม่าจำนวน 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงในการผลิตและจัดหาไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าวังน้อย รวมถึงใช้ในภาคขนส่งสำหรับใช้ในรถยนต์(NGV) ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่รับจากแหล่งซอติก้านี้จะสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณปีละ 2,400 ล้านลิตร ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศประมาณ 400,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา
ขณะเดียวกันการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M9 ยังจะเป็นการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอาเซียน(Trans-ASEAN Gas Pipeline) ทำให้โครงข่ายท่อก๊าซอาเซียนยาวเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,800 กิโลเมตร เป็น 3,020 กิโลเมตร ทำให้ภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงด้านพลังงานและเชื่อมโยงไปส่วนต่างๆ ของภูมิภาคกรณีเกิดการขาดแคลนปิโตรเลียม
อย่างไรก็ตาม ปตท.มีแนวโน้มที่จะรับซื้อก๊าซฯ จากพม่าเพิ่มเติมได้อีก เนื่องจาก ปตท.สผ.ยังได้รับสิทธิ์ในการสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ในแหล่ง M3 M4 , M7 และ M11 ในพม่า โดยราคาซื้อขายจะผันผวนราคาน้ำมัน แต่เบื้องต้นอยู่ที่ 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยืดอายุการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยออกไปได้อีกประมาณ 10 ปี จากเดิมที่คาดว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลงใน 23 ปีข้างหน้า
ด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือในการซื้อก๊าซฯ จากแหล่ง M9 แล้วไทย-พม่ายังมีความร่วมมือรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนฮัดจีห์ 1,200 เมกะวัตต์ และเขื่อนท่าซาง 7,000 เมกะวัตต์ของพม่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามความห่วงใยของกลุ่มเอ็นจีโอ โดยในส่วนของโครงการเขื่อนฮัดจีห์จะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนภายในเดือน พ.ค.54
สำหรับการปิดสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีตามแนวท่อภาคตะวันออกกว่า 30 แห่ง นายพรชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบท่อส่งก๊าซ แต่เป็นการปิดสถานีเอ็นจีวี เพื่อปรับปรุงคุณภาพก๊าซให้ดีขึ้น เพราะมีการนำเข้าก๊าซมาจากหลายแหล่ง ทั้งนี้ หากโรงแยกก๊าซ โรงที่ 6 สามารถเดินเครื่องได้จะมีการปรับสูตรเอ็นจีวีใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ได้มาตรฐานและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์