อนุ กมธ.ตลาดเงินฯเตรียมเสนอรัฐคงมาตรการภาษีบจ.ใน mai ภายใน 2-3 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 29, 2010 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทยา อินาลา ประธานคณะอนุกรรมาธิการตลาดเงิน ตลาดทุน การประกันภัย และสถาบันการเงิน ภายใต้คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา เตรียมเสนอแนะให้ รมว.คลังและคณะรัฐมนตรีพิจารณาคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยเฉพาะการลดอัตราภาษีนิติบุคคลในอัตรา 25% ต่อไป คาดว่าจะเสนอภายใน 2-3 เดือนนี้ หลังจากระดมความเห็นหลายฝ่ายในวันนี้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทขนาดกลางและเล็กประมาณ 2 แสนแห่ง ซึ่งหากได้แหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกก็สามารถแข่งขันได้ จึงอยากให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาด mai โดยขณะนี้มีบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีศักยภาพ 40-50 บริษัท มาตรการภาษีจะช่วยจูงใจบริษัทเหล่านี้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่คาดว่าจะเข้ามาในตลาด mai จะทำให้มาร์เก็ตแคปใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 63 บริษัท

"ตอนนี้มี บจ.อยู่ใน mai อยู่ 63 บริษัท แต่ก็คาดว่ายังมีบริษัทที่มีศักยภาพ 40-50 บริษัท ถ้าเข้ามาจดทะเบียนในตลาด mai แล้วเขาเสียภาษี 30% ก็ไม่รู้จะเข้ามาทำไม ขั้นตอนก็เยอะ ต้นทุนสูง แต่ถ้าต่อมาตรการภาษีเสีย 25% ก็หวังว่าเข้ามาครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 20 บริษัท ช่วยให้มาร์เก็ตแคบใหญ่ขึ้น"นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา เห็นว่า ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 บริษัทขนาดใหญ่ประสบปัญหา บางรายถึงขั้นขาดทุน ไม่สามารถเสียภาษีได้ ขณะที่เอสเอ็มอียังเสียภาษีให้ภาครัฐได้ ดังนั้น มองว่าต่อไปข้างหน้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ขณะที่เอสเอ็มอีมีความแข็งแกร่งขึ้นก็จะส่งผลดี แต่ขณะนี้เอสเอ็มอีเหล่านี้มีต้นทุนทางการเงินสูง นอกจากนี้ ยังต้องเสียภาษีนิติบุคคลอัตรา 30% โดยไทยเป็นประเทศที่เก็บอัตรากาษีนิติบุคคลสูงที่สุดเมือเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน

นอกจากนี้ จะเสนอแก้ไขข้อกฎหมายของพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ระบุบริษัทที่ะเข้าจดทะเบียน mai ต้องเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว ข้อนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่เข้าตลาด mai ควรผ่อนคลายให้มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อเปิดทางให้เอสเอ็มอีเข้าตลาด mai ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย โดยคาดว่าจะเสนอพร้อมกับเรื่องมาตรการภาษี และในอนาคตอาจจะมีการเสนอให้มีการแปรรูปตลาด mai เพราะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์กำลังแปรรูปกิจการเป็นเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ