บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทที่ระดับ A-(tha) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ F2(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ
แม้ว่าผลประกอบการและกำไรจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่คงมีความกังวลในเรื่องแผนการลงทุนของบริษัทที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาจทำให้ความพยายามในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทล่าช้าออกไป
ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมียังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะอุตสาหกรรมที่ยังคงเปราะบาง และเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากบริษัทควรจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะมีการลงทุนขนาดใหญ่
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC ปรับตัวลดลงจากการที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (adjusted net debt to EBITDAR)และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สิน (funds from operations adjusted net leverage) สำหรับ 12 เดือนล่าสุด ณ ครึ่งปีแรกของปี 2553 ลดลงอยู่ที่ระดับประมาณ 2.2 เท่า
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวโดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีและ 5 ปีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงสำหรับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากแผนการลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทอาจปรับตัวลดลงได้ถ้าบริษัทมีกำไรจากดำเนินงานสูงกว่าที่คาดหรือบริษัทมีการชะลอแผนการลงทุน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 3.5 เท่า ถึง 3.8 เท่า ในช่วงปี 53-54 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 3.0 เท่าในปี 55
อันดับเครดิตของ IRPC มีปัจจัยสนับสนุนจากความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์และชื่อเสียงของบริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศอันยาวนาน การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ครบวงจรดังกล่าวได้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิดและสามารถวางแผนการใช้สายการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังช่วยลดความผันผวนของรายได้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ IRPC ยังได้รับประโยชน์จากการที่มี บมจ.ปตท.(PTT)เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยบริษัทสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานจากการร่วมดำเนินการกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. อย่างไรก็ตามการพึ่งพากันในการดำเนินธุรกิจและการผลิตระหว่างบริษัทกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการผลิตของ IRPC ค่อนข้างจะเป็นอิสระและมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรอยู่แล้ว
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท อันดับเครดิตยังได้สะท้อนถึงแผนการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และการพึ่งพิงการส่งออกในธุรกิจปิโตรเคมีเนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตโพลีเมอร์เกินความต้องการใช้ภายในประเทศ IRPC ยังเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องวัตถุดิบสำหรับธุรกิจโรงกลั่น เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
ฟิทช์ กล่าวว่าอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่าที่คาด (โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ที่สูงกว่า 3.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง) รวมถึงภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ในทางตรงกันข้ามความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด และแผนการลงทุนที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้จะช่วยทำให้แนวโน้มอันดับเครดิตของ IRPC มีเสถียรมากขึ้น นอกจากนี้แผนการควบรวมระหว่างบริษัทกับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) ที่อาจจะเกิดขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อ IRPC