ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร HEMRAJ ที่ "A-"เปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 6, 2010 09:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ที่ระดับ “A-" และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Negative" หรือ “ลบ"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนรายได้จากบริการสาธารณูปโภคที่แน่นอน และโครงสร้างทางการเงินที่อยู่ในระดับดี

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและช่วยลดความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัท

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้ต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่าเกณฑ์ 50% ได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพและปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต

HEMRAJ เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ เดือนพฤษภาคม 2553 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 8.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรูในใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย โดยปกติรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทซึ่งรวมถึงคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60%-75% ของรายได้รวม ยกเว้นในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่วนรายได้ที่เหลือเป็นรายได้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน

บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 32,380 ไร่ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 412 ราย ซึ่ง 34% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 15% เป็นลูกค้าในกลุ่มปิโตรเคมี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 9,563 ไร่ โดยประมาณ 40% อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (H-ESIE) ซึ่งปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

รายได้รวมของบริษัทผันผวนตามธรรมชาติของธุรกิจการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกส่งผลให้บริษัทมียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 144 ไร่ เมื่อเทียบกับจำนวนเฉลี่ยที่ 1,400 ไร่ในช่วงปี 2550-2551 รายได้จากการขายที่ดินซึ่งปรับตัวลดลง 76% ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทลดลงถึง 54% เหลือ 2,050 ล้านบาทในปี 2552

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการขายที่ดินแปลงใหญ่ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มยานยนต์รายหนึ่งส่งผลให้ยอดขายที่ดินของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 565 ไร่ และทำให้รายได้รวมของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นถึง 190% เป็น 1,197 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 จะส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนตกต่ำลงจนกดดันยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้ปรับตัวลงเหลือ 58 ไร่ แต่แนวโน้มการส่งออกที่ดีและอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 67.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 70%-75% ในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งสะท้อนถึงความต้องการขยายกำลังการผลิตของโรงงาน ต่าง ๆ และความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงต่อไป

รายได้ประจำของบริษัทว่ายังคงแข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงชะลอตัวในปี 2552 แต่บริษัทยังคงมีรายได้จากบริการสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจากลูกค้าที่มีอยู่ รายได้จากการบริการสาธารณูปโภคในปี 2552 ยังคงเพิ่มขึ้น 12% เป็น 768 ล้านบาทจากปี 2551 ในไตรมาสแรกของปี 2553 รายได้จากการบริการสาธารณูปโภคยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 217 ล้านบาท โดยเติบโต 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าซึ่งชะลอตัวในปี 2552 ก็ฟื้นตัวเช่นกัน โดยมีพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นสุทธิ 6,634 ตารางเมตร (ตร.ม.)หรือเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่บริษัทมีพื้นที่ให้เช่าลดลง 10% การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังส่งผลให้ยอดขายคอนโดมิเนียมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากหยุดชะงักไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทขายคอนโดมิเนียมได้ 7 ยูนิต มูลค่ารวม 385 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ปัจจุบันบริษัทยังคงมีคอนโดมิเนียมเหลือขายรวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท

คำพิพากษาของศาลปกครองที่สั่งระงับการดำเนินโครงการจำนวน 76 แห่งในบริเวณพื้นที่มาบตาพุดได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยและชะลอแผนการขยายกำลังการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ส่วนขยายส่วนหนึ่งของ H-ESIE และของนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (EIE) ก็เป็นส่วนของโครงการที่ถูกระงับการดำเนินงานโดยคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโครงการ H-ESIE ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อได้แล้วเนื่องจากโครงการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2550

ส่วน EIE ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำและขออนุมัติที่ใช้เวลานานอาจส่งผลทำให้การขยายกำลังการผลิตของโรงงานปิโตรเคมีรวมถึงการพัฒนา EIE ของบริษัทหยุดชะงักระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้การเติบโตของรายได้ของบริษัทลดลง แต่มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ไม่มาก

สภาพคล่องของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2553 เงินกู้รวมของบริษัทลดลงเหลือ 3,700 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2553 และยังมีเงินสดที่ไม่มีภาระผูกพันอีก 1,700 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปีละประมาณ 700-900 ล้านบาทเพียงพอต่อการจ่ายชำระคืนเงินกู้ตามสัญญาที่มีจำนวน 600-700 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2553-2554

บริษัทยังประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้อายุ 3-7 ปีรวมมูลค่า 5,362 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2553 ด้วย โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้จะใช้สำหรับแผนการขยายการลงทุนจำนวน 4,500 ล้านบาทซึ่งรวมถึงการลงทุนใน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด (GHECO-One) และการขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการสาธารณูปโภค ฯลฯ แม้ว่าการออกหุ้นกู้จำนวนมากจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้ต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ก็คาดว่าการลงทุนใน GHECO-One ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระจะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในรูปเงินปันผลตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ