ทริส ประกาศอันดับเครดิหุ้นกู้"ดั๊บเบิ้ล เอ"ชุดใหม่ 2.5 พันลบ.ที่ BBB

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 6, 2010 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่มีอยู่ในปัจจุบัน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษชนิดเยื่อใยสั้นและกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและการผลิตที่ครบวงจร ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ" และโครงสร้างเงินทุนที่ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากราคาที่ค่อนข้างผันผวนในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษแม้บริษัทได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์บางประเภทจากสินค้าโภคภัณฑ์ให้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับการทำรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจและแผนการลงทุนยังมีส่วนลดทอนความแข็งแกร่งของบริษัทด้วยเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถคงระดับภาระหนี้สินและรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจและแผนการลงทุนของบริษัทยังมีความไม่แน่นอน แต่ฐานะการเงินของบริษัทก็ไม่ควรจะถดถอยลงจากระดับปัจจุบันมากเกินไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีเพียงรายการระหว่างบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเท่านั้น

ณ เดือนมกราคม 2553 บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีกลุ่มตระกูลดำเนินชาญวนิชย์เป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 70.01% โดยบริษัทได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 หลังจากที่นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วน 78.52% หลังจากนั้น ผู้บริหารก็ได้วางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทโดยการขายโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โรง รวมทั้งลงทุนในโรงงานผลิตกระดาษโรงที่ 3 และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคในปี 2552

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยจึงส่งผลทำให้แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทต้องล่าช้าออกไป ในช่วงกลางปี 2552 บริษัทได้ขายธุรกิจไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าโรงที่ 5 โรงที่ 6 และโรงที่ 11 ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องในราคารวมสุทธิ 3,800 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังมีแผนจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อทำหน้าที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทและอาจซื้อกิจการของบริษัทลูกแห่งอื่นๆ เช่น บริษัท แอ๊ดวานซ์ เปเปอร์ มิลล์ 3 จำกัด และ บริษัท ดีเอ แพ็คเก็จจิ้ง จำกัด โดยคาดว่าจะนำบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศและลงทุนในโรงงานกระดาษโรงที่ 3 แทนบริษัท อย่างไรก็ตาม กำหนดเวลาในการจดทะเบียนบริษัทใหม่รวมถึงแผนการลงทุนยังไม่แน่นอน

บริษัทยังได้ซื้อที่ดินจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง 2 ราย คือ บริษัท ไทย เพาเวอร์ เจนเนอเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด เพื่อใช้สร้างอ่างเก็บน้ำของตนเองด้วย ธุรกรรมดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากบริษัทบัญชีแห่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกซึ่งระบุว่าราคาซื้อที่ดินดังกล่าวอยู่ในระดับเทียบเท่ากับราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียง (ระหว่าง 0.3-2 ล้านบาทต่อไร่) ตามประกาศของกรมธนารักษ์

ทริสเรทติ้งมีประเด็นกังวลว่าที่ดินที่ซื้อมาในราคารวมกันจำนวน 1,860.1 ล้านบาทนั้นสูงกว่าราคาที่ผู้ประเมินอิสระประเมินไว้ที่ 292.9 ล้านบาทค่อนข้างมาก จึงทำให้มีข้อสงสัยในเรื่องความเหมาะสมของรายการระหว่างกันดังกล่าวแม้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำของบริษัทจะช่วยลดการทำธุรกรรมกับบริษัทที่เกี่ยวข้องลงในอนาคตก็ตาม

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนชั้นนำของไทยโดยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 620,486 ตันต่อปี และมีเครื่องจักรผลิตกระดาษจำนวน 3 ชุดซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 552,858 ตันต่อปี เยื่อกระดาษที่ผลิตได้ประมาณ 70%-80% นั้นบริษัทนำมาใช้เพื่อการผลิตกระดาษ และส่วนที่เหลือส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รายได้จากการขายกระดาษคิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้รวมของบริษัท ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากการขายเยื่อกระดาษ

บริษัทเป็นผู้ส่งออกเยื่อใยสั้นรายสำคัญในประเทศ โดยคิดเป็นปริมาณส่งออก 82,856 ตันในปี 2551 และ 71,304 ตันในปี 2552 ปริมาณเยื่อกระดาษที่ส่งออกในปี 2552 ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่มูลค่าที่ได้รับจากการขายลดลงกว่า 37% เนื่องจากราคาเยื่อกระดาษในปี 2552 ปรับลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งราคามีความผันผวนค่อนข้างมากตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป

ในส่วนของผลิตภัณฑ์กระดาษนั้น บริษัทให้ความสำคัญกับกระดาษพิมพ์เขียนเป็นหลัก ทั้งนี้ ราคากระดาษพิมพ์เขียนโดยเฉพาะแบบแผ่นนั้นค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับราคาเยื่อกระดาษ ดังนั้น ในปี 2552 รายได้จากการจำหน่ายกระดาษจึงลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายที่ลดลงประมาณ 7% อุปสงค์ที่ลดลงจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้บริษัทต้องให้ความสำคัญในเรื่องของต้นทุนการผลิตมากกว่าปริมาณการผลิต

แม้ว่ารายได้จากการจำหน่ายเยื่อและกระดาษในปี 2552 จะลดลง 12% แต่กำไรของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทสามารถคงราคาขายของกระดาษเอาไว้ได้ในขณะที่ราคาของไม้สับซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักปรับลดลงเกือบ 27% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 27% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 35% ในปี 2552 และไตรมาสหนึ่งของปี 2553

อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาปรับเพิ่มขึ้นจาก 14.9% ในปี 2551 เป็น 23.4% ในปี 2552 ก่อนจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 20.53% ในไตรมาสแรกของปี 2553 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น อัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นนั้นเนื่องมาจากราคาไม้ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 ประกอบกับบริษัทมีโครงการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกต้นกระดาษของดั๊บเบิ้ลเอตามคันนาซึ่งทำให้บริษัทซื้อต้นกระดาษในราคาที่ถูกลง โดยบริษัทคาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ณ สิ้นปี 2552 และไตรมาสแรกของปี 2553 บริษัทมีหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาท ลดลงจาก 12,038 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 โดยมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วนประมาณ 40% ของหนี้สินรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้การค้า ในขณะที่เงินกู้ระยะยาวส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะยาวชนิดไม่ด้อยสิทธิสกุลดอลลาร์สหรัฐอัตราดอกเบี้ย 11% ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2555 ด้วยมูลค่าคงเหลือ 144.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2552

ในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทได้ทำคำเสนอขอซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวจากผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 51.02% ของหุ้นกู้คงค้าง และในวันที่ 2 มีนาคม 2553 บริษัทก็สามารถซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวได้ในมูลค่า 40.765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทได้ประกาศจะไถ่ถอนหุ้นกู้ส่วนที่เหลือทั้งหมดภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ในราคาคิดเป็น 105.625% ของยอดเงินต้นบวกดอกเบี้ยสะสมและดอกเบี้ยค้างจ่ายจนถึงวันไถ่ถอนแต่ไม่รวมวันไถ่ถอน และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 บริษัทก็ได้ไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวจนครบทั้งจำนวนโดยใช้เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในประเทศจำนวน 5,000 ล้านบาท นอกจากการซื้อคืนหุ้นกู้แล้ว บริษัทยังมีแผนในการซื้อคืนหุ้นทุนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50%-55% โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 44%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ