BMCL คาดปี 53 ขาดทุนลดลง 15%จากปีก่อน,เต็มร้อยสู้ประมูลเดินรถสายสีม่วง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 18, 2010 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)คาดในปี 53 บริษัทจะมีผลขาดทุนลดล 15% จากปีก่อนที่มีขาดทุน 1.3 พันล้านบาท มาเหลือที่ 1.1 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้น 10% และจะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)เป็นบวกเป็นปีแรก ส่วนรายจ่ายตั้งเป้าลดลง 5%

"เราคาดว่าครึ่งปีหลังจะมี revenue เพิ่มขึ้น และจะมีรายจ่ายน้อยลงได้ ทำให้ภาพโดยรวมปีนี้ จะขาดทุนน้อยลงกว่าปีที่แล้วประมาณ 15%"นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ารายได้จะสูงชึ้น 5% จากครึ่งปีแรกที่ทำได้ 713 ล้านบาท และจะทำให้ EBITDA พลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากครึ่งปีแรกรายได้บริษัทจะสูญไปกว่ 30 ล้านบาทจากผลกระทบการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ EBITDA ติดลบ 20 ล้านบาท แทนที่จะเป็นบวก 10 ล้านบาทตามเป้าหมาย

บริษัทคาดว่าปริมาณผู้โดยสารโดยเฉพาะวันธรรมดา เฉลี่ยทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2 แสนเที่ยว/วัน จาก 1.9 แสนเที่ยว/วันในปี 52 ประกอบกับ บริษัทยกเลิกส่วนลดตั๋วโดยสารตั้งแต่ 3 ก.ค.53 น่าจะส่งผลทำให้รายได้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะสามารถปรับลดลง เพราะบริษัทจะเริ่มทำการซ่อมบำรุงเองบางส่วนในครึ่งปีหลัง จากเดิมที่เคยจ้างซีเมนส์ทั้งหมด ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 4%

"โดยสรุปปีนี้เราโชคร้ายสูญเสียรายได้ประมาณ 30 กว่าล้าน ทำให้ EBITDA ในครึ่งปีแรกแทนที่จะเป็นบวก 20 กลายเป็นติดลบ 10 ล้านฯ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ EBITDA ในปลายปีเราเป็นบวกอย่างแน่นอน ปีนี้เรายังขาดทุนอยู่แต่ขาดทุนน้อยลงกว่า 15% จาก 1.3 พันล้าน เหลือ 1.1 พันล้าน รายได้จะเพิ่มขึ้น 10% โดยมาจากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น การไม่ให้ส่วนลด จะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเกิน 24 บาท/เที่ยว จาก 23 บาท/เที่ในปีก่อน และจากรายได้ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์" นายสมบัติ กล่าว

อนึ่ง งวด 6 เดือนแรกปี 53 บริษัทมีผลขาดทุน 593.86 ล้านบาท เทียบกับงวด 6 เดือนแรกปี 52 ที่ขาดทุน 691.60 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 14%

*หมายมั่นได้งานประมูลเดินรถสายสีม่วง

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลงานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อคาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะเปิดขายเอกสารประมูลในเดือน ส.ค.นี้ หรือต้นเดือน ก.ย. คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างต่ำน่า 3 รายเข้ามาแข่งขันกัน จากซัพพลายเออร์ เช่น ซีเมนส์ บอมบาดิเอร์ อัพสตอม และ ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น เป็นต้น และรวม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป(BTS)

ขณะนี้บริษัทได้เตรียมวงเงินกู้จากธนาคาร เบื้องต้นมี 3 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.ทหารไทย และ ธ.กรุงศรีอยุธยา วงเงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนเดินรถดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายคืนในภายหลัง โดยเป็นการลงทุนขบวนรถไฟฟ้า ศูนย์ซ่อมบำรุง ระบบต่างๆ ระบบเก็บเงิน ระบบประตูปิดเปิด ระบบไฟฟ้า รวมทั้งเตรียมพร้อมเรื่องบุคลลากร

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเตรียมพร้อมแข่งขันด้านต้นทุนให้ถูกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การซ่อมบำรุง ต้นทุนด้านการเงิน และการจัดหางาน ระบบ

นายสมบัติ กล่าวว่า เท่าที่ประเมินจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงน่าจะอยู่ที่ 2 แสนเที่ยว/วัน และจะเข้าระบบที่ BMCL เดินรถอยู่ประมาณ 1 แสนเที่ยว/วัน ถ้าเป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ BMCL ถึงจุด break event ในปี 55

"เรามุ่งมั่นทำสายสีม่วงกับสายสีน่ำเงิน...สายนี้ (สายสีม่วง)เราหมายมั่นที่จะสู้เต็มร้อย แต่ผมได้ข่าวมาว่า ถ้าเขาให้สัญญาช้า ก็จะทำให้งานโยธาเสร็จก่อน ก็จะไม่ match กัน เพราะเขาต้องมี งานโยธา กับงานระบบไฟฟ้เต้องมาทดสอบร่วมกัน"นายสมบัติ กล่าว

ทั้งนี้ งานเดินรถต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยคาดว่าปลายปี 55 น่าจะเริ่มได้ เพราะต้องจัดหาและทดสอบงานระบบ แต่น่าจะเปิดเดินรถบางส่วนได้เร็วกว่านั้น สาเหตุที่ต้องเร่งรัดเสร็จให้ใกล้เคียงกัน ทั้งงานโยธา งานวางระบบ และงานเดินรถ ฉะนั้น จึงคาดว่า รฟม.จะพยายามหาผู้รับเหมาเดินรถภายในปีนี้หรือต้นปีหน้าเพื่อให้งานทุกอย่างเสร็จสิ้นพร้อมกัน

นายสมบัติ กล่าวว่า เบื้องต้น รฟม.จะว่าจ้างเอกชนเดินรถ ไม่ใช่การให้สัญญาสัปมทานเหมือนที่ BMCL เดินรถอยู่ แต่ที่สุดก็ต้องดูรายละเอียดในทีโออาร์ ซึ่งการใช้วิธีการว่าจ้าง มีทั้งข้อดีข้อเสีย โดยข้อดี บริษัทไม่ต้องรับความเสี่ยงจากจำนวนผู้โดยสาร แต่ก็ทำให้มีมาร์จิ้นน้อย หากยอมรับความเสี่ยงจำนวนผู้โดยสาร ก็มีโอกาสที่จะมีรายรับมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ