SAT มั่นใจรับออร์เดอร์ต่อเนื่องกินยาวหลังคูโบต้าประกาศแผนดันไทยเป็น hub

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 20, 2010 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระยุทธ กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สมบูรณ์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี(SAT)คาดว่า บริษัทจะได้รับประโยชน์ในด้านคำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์จากทางคูโบต้า ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทางคูโบต้าประกาศแผนผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต ยานพาหนะ เครื่องยนต์ และเครื่องจักรกลทางการเกษตร

สำหรับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ชิ้นส่วนจากโครงการผลิตรถนวดเกี่ยวข้าวแห่งใหม่ของสยามคูโบต้าจะเริ่มเข้ามาและบันทึกรายได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ แต่จะเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญในปี 54 ซึ่งถือว่าเป็นออร์เดอร์ที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากที่บริษัทรับผิดชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ให้กับคูโบต้าในปัจจุบัน

"จะส่งผลดีต่อเราด้วยซ้ำเพราะจะทำให้เรามียอดขายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ในปีนี้การบุ๊ครายได้จะน้อยไม่ถึง 1% แต่ในปีหน้าคงเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าจะมีสัดส่วนเท่าไร เพราะวอลุ่มในช่วงแรกคงไม่ได้มาก คงจะไปส่งผลอย่างเป็นนัยในปี 54 ซึ่งนั่นก็จะทำให้ยอดขายในปีหน้าเพิ่มขึ้นด้วย"นายวีระยุทธ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อนึ่ง บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างบริษัท คูโบต้าฯกับบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)สัดส่วน 60:40 จะผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวปีแรก 1,000 คัน และเพิ่มเป็น 10,000 คันในปี 56 จากปัจจุบันนำเข้าจากประเทศจีนมาจำหน่ายปีละ 3,600 คัน เป็นเวลา 3 ปี และยังมีแผนจะผลิตรถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่กว่า 50 แรงม้า, รถดำนา, เครื่องขุดสำหรับงานก่อสร้าง, เครื่องตัดอ้อย เครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง และอุปกรณ์ต่อพ่วงทางการเกษตรต่างๆ เป็นต้น

นายวีระยุทธ กล่าวว่า การที่คูโบต้าจะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพื่อมาผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวนั้นบริษัทเรารับทราบมานานแล้วและก็ได้มีการเจรจามาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่าจะสั่งซื้อชิ้นส่วนกับบริษัทเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่บริษัทผลิตป้อนให้ โดยเบื้องต้นการผลิตช่วงแรกคงยังไม่มาก

ส่วนความคืบหน้าในการเจรจาในการผลิตชิ้นส่วนอีโคคาร์ให้กับค่ายรถยนต์ซูซูกิและมิตซูบิชินั้น เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับออร์เดอร์จากทั้งสองค่าย แต่ในแง่ปริมาณคงจะรู้ผลสรุปในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายโตโยต้า ซึ่งถือว่าเป็นลูกค้ารายใหม่ในการผลิตเหล็กกันโครง คอยสปิง คาดว่าจะสรุปผลภายในสิ้นปีนี้ โดยการผลิตให้กับลูกค้าดังกล่าวถือว่านอกเหนือจากการผลิตให้กับลูกค้ารายเดิม และไม่รวมค่ายนิสสันที่ได้รับออเดอร์ในช่วงกลางปีนี้

นายวีระยุทธ กล่าวว่า จากจำนวนออเดอร์ลูกค้าที่มากขึ้น และปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามยอดการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้บริษัทได้มีการปรับเป้าหมายยอดขายในปีนี้เติบโต 45% จากปีก่อน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะมีอัตราการเติบโตราว 20% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น(gross profit margin)ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาที่ 22-23% จากปีก่อนอยู่ที่ 17-18% ด้วยจากวอลลุ่มที่เข้ามามาก การเพิ่มกำลังการผลิต และผลสำเร็จของการปรับลดค่าใช้จ่าย

ขณะที่การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 15 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการโรดโชว์ ซึ่งได้รับความสนใจค่อนข้างมาก ทำให้คาดว่าจำนวนที่เสนอขายอาจจะไม่พอ โดยมี บล.กิมเอ็ง เป็นที่ปรึกษาและคาดว่าจะบุ๊คบิ้วราคาได้ประมาณสิ้นเดือน ส.ค.นี้

สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายการลงทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนในระยะ 3 ปี(53-55)ที่กำหนดวงเงินลงทุนรวม 3,500 ล้านบาท ในปีนี้ได้ใช้ไปแล้ว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ลงทุนในปี 54-55 เป็นการรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ