ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุนวันนี้มีมติเห็นชอบการแก้ไขและกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ทั้งนี้ มีการแก้ไขในส่วนของลักษณะต้องห้ามให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ลักษณะต้องห้ามที่ใช้กับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน และในบางจุดได้กำหนดให้เข้มงวดกว่าเนื่องจากบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร ผู้จัดการกองทุน ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน ทั้งในธุรกิจหลักทรัพย์และในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนโดยตรงและอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้ลงทุนด้วย
หลักเกณฑ์ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ 3 กลุ่มตามระดับความชัดเจนและการใช้ดุลยพินิจ กล่าวคือ(1) กลุ่มที่มีลักษณะต้องห้ามที่ชัดเจนแล้ว และ ก.ล.ต. ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจหรือพิจารณาเพิ่มเติม เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ
(2) กลุ่มที่มีประวัติการถูกดำเนินการหรือถูกลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น กรณีถูกหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นลงโทษ ซึ่ง ก.ล.ต. จะไม่พิจารณาข้อเท็จจริงซ้ำ แต่จะพิจารณาเฉพาะว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะตามที่กำหนดหรือไม่
และ (3) กลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง ซึ่ง ก.ล.ต. จะพิจารณาเป็นรายกรณี และเปิดโอกาสให้บุคคลดังกล่าวชี้แจง รวมทั้งให้มีคณะกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นต่อ ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจ
สำหรับลักษณะต้องห้ามที่กำหนดเข้มงวดกว่ากรณีของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เช่น กรณีถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ กรณีหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายอื่นพิจารณาว่ามีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงิน หรือผู้จัดการเงินทุนของลูกค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะปฏิเสธบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการขอรับความเห็นชอบ หรือกรณีที่ปรากฏลักษณะต้องห้ามภายหลังจากบุคคลได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งไปแล้ว ก.ล.ต. จะตำหนิโดยเปิดเผย สั่งพัก หรือเพิกถอน หรือห้ามปฏิบัติหน้าที่ แล้วแต่กรณี