นายวินิจ แตงน้อย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO)คาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้จะปรับลดลงราว 5-6% จากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปีนี้ที่ปรับลดลง ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้า BLCP, โรงไฟฟ้าขนอม และโรงไฟฟ้าระยอง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถจ่ายปันผลได้ไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่จ่ายในอัตรา 5.25 บาท/หุ้น
สำหรับการลงทุนของบริษัทในปีนี้ ยอมรับว่าคงไม่สามารถสรุปการเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศฟิลิปปินส์ได้ทันภายในกำหนดเดิมไตรมาส 3/53 ซึ่งสาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากมีการศึกษารายละเอียดและข้อตกลงต่าง ๆ ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังหวังว่าจะสรุปการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าได้อย่างน้อย 1 แห่งภายในปีนี้
ส่วนการเจรจาซื้อหุ้นเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 จากบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)ขณะนี้การเจรจามีข้อสรุปในเบื้องต้นแล้ว และอยู่ระหว่าการจัดเตรียมเอกสาร คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน เบื้องต้นบริษัทยังหวังว่าจะเข้าซื้อหุ้นจาก ITD ตามเป้าหมาย 15% แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าเงินลงทุนได้ ซึ่งบริษัทจะรับรู้รายได้จากสัดส่วนหุ้นที่เพิ่มขึ้นเข้ามาภายในปี 54
บริษัทยังมีแผนยื่นประมูลโครงการตั้งโรงไฟฟ้า SPP รอบใหม่ จำนวน 2-3 แห่ง เบื้องต้นจะมีขนาดไม่ต่ำกว่าแห่งละ 90 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณแห่งละ 2 พันล้านบาท บริษัทเชื่อว่ามีความพร้อมเพียงพอและน่าจะชนะประมูลโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมของบริษัท
นายวินิจ กล่าวถึงการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าขนอมและระยองว่า คาดว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าระยองจะเสนอเงื่อนไขได้ในช่วงปลายปีนี้เพื่อขอต่ออายุไปอีก 5 ปี
ขณะที่โรงไฟฟ้าขนอมจะยื่นต่ออายุสัญญาอีก 5 ปี หรืออาจจะขอก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในช่วงปีหน้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าขนอมตั้งอยู่ในพื้นที่พัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะมีการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งหากบริษัทได้โครงการใหม่ก็คงต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น บริษัทยังมีความสนใจลงทุนด้านพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้า VSPP ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ โดยได้ให้บริษัท เอ็กโก้ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส บริษัทลูก เป็นผู้ดำเนินการ ล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก(EASTW) และ บริษัท PPNK จากประเทศลาว เพื่อร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศลาว เพราะมองว่ามีศักยภาพในการขายและมีกำลังซื้อมารองรับ ไม่จำเป็นต้องส่งมาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เท่านั้น
นายวินิจ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน 6-7 พันล้านบาท และยังมีวงเงินที่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้อีกในระดับ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 0.2 เท่า