นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) (KEST)คาดว่าในปีนี้กำไรและรายได้น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน พลิกจากที่เคยคาดว่ารายได้จะต่ำกว่าปีก่อนจากผลของการคิดค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์(คอมมิชชั่น)แบบขั้นบันได เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์(วอลุ่ม)ของตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ ทำให้ค่าคอมมิชชั่นไม่น่าจะต่ำกว่าปีก่อน
ทั้งนี้ กำไรของ KEST ในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 278 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 279 ล้านบาท
วอลุ่มเฉลี่ยของตลาดรวมในช่วงไตรมาส 3/53 ขยับขึ้นมาเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท/วันแล้ว หลังจากช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.53 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท/วันสูงกว่าคาด ขณะที่เดิมบริษัทเคยคาดการณ์วอลุ่มเฉลี่ยในปี 53 ไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท/วัน
ประกอบกับ บริษัทคาดว่าครึ่งปีหลังตลาดหุ้นไทยยังแรงอยู่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยมองดัชนี SET ที่ 925 จุด จากเดิมอยู่ที่ 900 จุด และปีหน้าคงไปถึง 1,000 จุดได้ไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่บริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์)เป็นอันดับ 1 ในครึ่งปีแรกที่ 12.5% สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 10.8%
ขณะที่รายได้จากวาณิชธนกิจ(IB)ไม่น่าจะต่ำกว่าปีก่อน แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีรายได้เพียง 4 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่ครึ่งปีหลังทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นคืนมา ภาคเอกชนก็พร้อมจะขยายกิจการ โดยรายได้หลักของ IB คือบริษัทจดทะเบียนที่มีการออกหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งเดือนที่แล้วมี 1 ดีล และกำลังจะมีอีก 1 ดีล นอกจากนั้น ยังมีรายการอื่น ๆ อีก
ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังมีแผนจะออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW) 2-3 ตัว คาดว่าจะออกตัวแรกได้ภายใน 1-2 เดือนจากนี้ ซึ่งจะพิจารณาการอ้างอิงราคาหุ้นในกลุ่ม SET50 อาจจะเป็นหุ้นแบงก์หรือพลังงาน ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้ รวมทั้ง จะมีการรายได้จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)เข้ามาภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า
นายมนตรี กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะปรับสัดส่วนรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ โดยรายได้จากค่าคอมมิชชั่นจะลดสัดส่วนมาที่ 70% จากปัจจุบัน 90% ขณะที่รายได้จาก DW จะมีสัดส่วนเป็น 10% งาน IB อยู่ที่ 5-10% และตราสารหนี้ 3-4% ที่เหลือเป็นรายได้อื่น ๆ
บริษัทยังมีนโยบายที่จะควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์(มาร์จิ้นโลน)ในปีนี้ไว้ไม่ให้เกินระดับ 5 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 3.7-4.0 พันล้านบาท ถึงแม้ว่าภาวะตลาดจะปรับตัวดีขึ้นแล้วและมูลค่าการซื้อขายมากขึ้น แต่ก็จะต้องทบทวนอยู่เรื่อย ๆ เพื่อควบคุมความเสี่ยง
รวมทั้งการทำ prop trade ก็จะควบคุมไว้ไม่ให้เกิน 100 ล้านบาท และแนวโน้มจะไม่ขยับขึ้น เพราะไม่อยากให้ลูกค้าเห็นว่าให้ความสำคัญกับ prop trade มากกว่าการดูแลลูกค้าที่เป็นงานหลัก