บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์(TPC)ระบุว่าในสัปดาห์หน้าบริษัทจะส่งหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)และผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน(HIA)ของโครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของโรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 ที่บริษัทดำเนินการจัดมาในช่วงก่อนหน้าที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวานนี้ จะเป็นไปตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 วรรค 2 หรีอไม่
ทั้งนี้ หากทางกระทรวงทรัพยากรฯ เห็นว่าสามารถใช้ EIA และ HIA ที่จัดทำไว้แล้วได้เลย บริษัทก็คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินโครงการดังกล่าวภายในกลางปี 54
นายคเณศ ขาวจันทร์ กรรมการผู้จัดการ TPC กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มทำ EIA และ HIA มาตั้งแต่ต้นปี 53 แล้ว โดยมีการจ้างที่ปรึกษาและเข้าหาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทก็จะสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐว่าใช้ได้หรือไม่ เชื่อว่าหากมีการพิจารณาว่า ก็น่าจะได้รับใบอนุญาตกลางปี 54 หลังจากนั้นบริษัทจะใช้เวลาติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 1-2 เดือนเพื่อเริ่มเดินเครื่องทันที
"ตอนที่เราตั้งเป้าหมายตั้งแต่ต้นปีก็คิดว่า 2 โครงการนี้ยังเดินหน้าไม่ได้ จึงไม่กระทบเป้าหมาย เพียงแต่เสียโอกาสไป 2 ไลน์การผลิต"นายคเณศ กล่าว
ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตผงพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์สายการผลิตที่ 8 และสายการผลิตที่ 9 ที่ไม่เข้าข่าย 11 โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงก็จะเริ่มเดินหน้าโครงการในพื้นที่มาบตาพุดต่อทันที โดยขณะนี้ได้ประสานกับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เพื่อสอบถามขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติ น่าจะรู้ผลในสัปดาห์หน้า หากได้รับอนุญาตก็จะเริ่มผลิตได้ในช่วงกลาง ต.ค.-พ.ย.นี้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ว่าจะเดินเครื่องผลิตตั้งแต่ต้นปี 53 กำลังการผลิตเต็มที่ 5 หมื่นตัน/ปี แต่ในช่วงเริ่มต้นผลิตได้ในปีนี้น่าจะมีผลผลิตประมาณ 8 พันตัน/ปี
นายคเณศ กล่าวว่า บริษัทคงจะไม่มีการลงทุนโครงการปิโตรเคมีต้นน้ำในพื้นที่มาบตาพุดอีกแล้ว แต่จะหันไปขยายการผลิตอุตสาหกรามปลายน้ำ เช่น ท่อ ประตู หน้าต่าง และ พื้นไม้ ซึ่งไม่มีปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมองว่าพื้นที่มาบตาพุดแน่นมากแล้ว ควรจะมีมาบตาพุด 2 แต่ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านจะรับได้หรือไม่
"เรื่องการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศคงจะไม่มีการขยายการลงทุนหรือตั้งโรงงานเพิ่มแม้จะมีความชัดเจนแล้ว เพราะหากขยายไปแล้วก็ไม่มีวัตถุดิบ อย่างพีวีซีก็ต้องมีขั้นตอนมาก ต้องดูว่ามีเอทิลีนพอหรือไม่ ต่อไปอาจจะไม่พอ เพราะต่อไปการลงทุนในมาบตาพุดก็ลำบากขึ้น เพราะมีข้อกำหนดเงื่อนไขมาก อุตสาหกรรมก็ต้องพึ่งต้นน้ำ ถ้าไม่มีวัตถุดิบต้นน้ำก็ต้องนำเข้าอย่างเดียว ก็สู้ไม่ได้ ค่าขนส่งก็กินหมด"นายคเณศ กล่าว
สำหรับโครงการลงทุนสำคัญในต่างประเทศคือโครงการร่วมทุนกับเครือบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)และภาคธุรกิจในเวียดนามในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ มูลค่าโครงการราว 4.5-4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะเริ่มก่อสร้างปี 54 ใช้เวลา 4-5 ปี กำลังการผลิตพีวีซี 2 แสนตัน/ปี และวีซีเอ็ม 4 แสนตัน/ปี
*คาดรายได้ปี 53 ที่ 2.6 หมื่นลบ.กำไรขึ้นกับราคาขาย,บาทแข็งกระทบ 30-40 ลบ.
นายคเณศ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 53 ไว้ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ภายใต้กำลังการผลิต 4.8 แสนตัน/ปี ยังไม่ได้รวมรายได้ที่จะเข้ามาจากโครงการใหม่ที่เริ่มผลิตได้คาดว่าจะทำรายได้ราว 20 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่ปี 52 บริษัทมีรายได้ 2.2-2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น การลงทุนในโครงการภาครัฐ และทิศทางราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
บริษัทคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังรายได้น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะพีวีซีในไตรมาส 3/53 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในช่วงสิ้นปีนี้ โดยขณะนี้ราคาพีวีซีเฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญ/ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 850 เหรียญ/ตัน และคาดว่าปลายปีนี้จะสูงขึ้นไปแตะ 1,000 เหรียญ/ตัน เพราะขณะนี้ราคาที่อินเดียปรับขึ้นไปในระดับดังกล่าวแล้ว ขณะที่ราคาในภูมิภาคอยู่ที่ 950 เหรียญ/ตัน
นอกจากนั้น ปัจจัยสนับสนุนคือการขายสินค้าประเภทท่อพีวีซีในโครงการภายใต้มาตรการไทยเข้มแข็ง ซึ่งมีงานวางท่อน้ำประปาและระบบชลประท่าน ขณะที่ภาคอสังหาหาริมทรัพย์ก็มีการสร้างคอนโดมิเนียมและรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งอั้นมาจากครึ่งปีแรก ทำให้ยอดขายไตรมาส 3 ปีนี้ทำได้ดี แม้ว่าปกติจะเป็นช่วงโลว์ตามธุรกิจก่อสร้าง
ขณะที่ในแง่ของกำไรทั้งปี 53 ขึ้นอยู่กับสเปรดของผลิตภัณฑ์ คาดว่าครึ่งปีหลังก็จะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยขณะนี้สเปรดโดยรวมอยู่ที่เกือบ 500 เหรียญ/ตัน สูงกว่าระดับปกติซึ่งอยู่ที่กว่า 400 เหรียญ/ตัน ขณะที่ปริมาณการขายเม็ดพลาสติกในประเทศก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้มีการส่งออกน้อยลง ซึ่งการขายในประเทศให้อัตรากำไรที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้อาจกระทบกำไรบ้าง แต่ในด้านวัตถุดิบก็มีการนำเข้าเป็นดอลลาร์ 100% เป็นการทำ natural hedge ไปในตัว ประเมินภาพรวมแล้วน่าจะกระทบกำไรประมาณ 30-40 ล้านบาทในปีนี้