นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทช.วันนี้มีมติรับทราบอัตราค่าปรับสำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถเปิดให้บริการการคงสิทธิเลขหมาย(นัมเบอร์พอร์ตบิลิตี้)ได้ตามกำหนดภายในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยให้ปรับเพิ่มเป็น 1.67 แสนบาท/วัน/ราย จากเดิมกำหนดไว้ 2 หมื่นบาท/วัน/ราย ซึ่งเป็นการคำนวณภายใต้ค่าเสียโอกาสของประชาชนที่ต้องการใช้บริการ 1 แสนราย/เดือน
"เราประมาณว่า ผู้ใช้บริการคงสิทธิเลขหมายเดือนละ 1 แสนราย ในแต่ละเลขหมายมี ARPU เดือนละ 250 บาทเพราะฉะนั้นในแต่ละเดือนจะเกิดผลกระทบผู้บริโภค 25 ล้านบาท จากการที่ไม่ได้ใช้บริการ และเฉลี่ยผู้ประกอบการ 5 ราย คิดเป็นเฉลี่ยต่อวัน 1.6 แสนบาท"นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ 5 รายได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส(ADVANC), บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (DTAC), บริษัท ทรูมูฟ จำกัด, บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม
อย่างไรก็ดี ทางสำนักงาน กทช.จะเปรียบเทียบปรับเพิ่มขึ้น โดยเดือนแรกหลังจากที่จดหมายแจ้งส่งไปถึงผู้ประกอบการแล้วมีผลต่อมาในอีก 5 วัน โดยจะเสียค่าปรับรายละ 5 ล้านบาท/เดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาท/เดือน หรือวันละ 3.2 แสนบาท/วัน/ราย ในเดือนที่ 3 เพิ่มเป็น 15 ล้านบาท/เดือน หรือวันละ 4.8 แสนบาท/วัน
"เราจะดูเดือนแรกว่าจะมีอะไรคืบหน้า ถ้าไม่มีอะไรคืบหน้า เราก็เพิ่มความเข้มข้น เพราะกทช.เห็นใจมา 1 ปีแล้ว ถ้ายังไม่เปิดก็ตอ้งพยายามให้สำนึก"นายประเสริฐ กล่าว
*โอเปอเรเตอร์เตรียมหาช่องอุทธรณ์/เผยอาจเร่งเปิดให้บริการปลายพ.ย.
ด้านนายปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด (Clearing House) กล่าวว่า การที่ กทช.เพิ่มค่าปรับไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเปิดให้บริการได้เร็วขึ้น และไม่รู้ว่าแต่ละรายจะจ่ายไหวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องพยายามเร่งเปิดให้เร็วที่สุด อย่างเร็ว ปลาย พ.ย. หรือต้น ธ.ค.อย่างน้อยก็เปิดให้ 1 คู่โอเปอเรเตอร์ที่ผ่านการทดสอบระบบแล้ว จากแผนเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้
"กทช.เอาเรื่องเงินมาบีบ ถ้าเปิดให้บริการไปโดยไม่ได้ test เราก็จะไม่รู้ ปัญหาอยู่ทีไหน แต่ถ้าทดสอบก็จะได้รู้...เขาออกคำสั่งมาแล้ว เราต้องดูว่าจะอุทธรณ์ได้ไหม ดูแล้วไม่เป็นธรรม ไม่สมเหตุสมผล ตอนนี้ยังไม่ได้รับจดหมายกัน ต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายกันก่อน" นายปรีย์มน กล่าว
ทั้งนี้ ตัวเลขลูกค้า 1.2 ล้านรายที่จะขอรับบริการคงสิทธิเลขหมาย เป็นตัวเลขที่เอกชนประเมิน แต่ กทช.จับเอาตัวเลขนี้มาคำนวณค่าปรับกับเอกชน ทั้งที่ควรจะดูความเสียหายจากการให้บริการว่ามีกี่ราย โดยเห็นว่า บางรายอาจจะรับค่าปรับไม่ได้จนต้องปิดให้บริการก็อาจทำให้เกิดความเสียหาย