นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท อะรโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอโครงการ Green jet-Green diesel ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาในเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเห็นว่าความต้องการดีเซลและน้ำมันอากาศยาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งจะเติบโตต่อเนื่อง
หากคณะกรรมการบริษัทอนุมัติคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการดำเนินการ โดยจะต้องเริ่มจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)แม้ว่าจะไม่ติดอยู่ใน 11 ประเภทกิจการที่มีผลกรุทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี 57
"เราทำ Green jet สอดล้องกับกฎที่ยุโรปไม่ให้ใช้น้ำมันที่มีคาร์บอน ...Green jet เราก็จะใช้คอนเดนเซท และเรซิดิวมาแป็นวัตถุดิบ ส่วน Green diesel จะใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ซึ่งคุณภาพดีกว่า B100" นายชายน้อย กล่าว
ขณะเดียวกัน นายชายน้อย คาดว่า ในไตรมาส 3/53 จะกลับมีกำไรกลับมาจากไตรมาส 2/53 ที่มีผลขาดทุน 515.6 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการตีราคาสินค้าคงคลังในราคาตลาด จำนวนเงิน 1,034 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะบันทึกกลับมาเป็นกำไรของบริษัท นอกจากนี้ มาร์จิ้นของทั้งพาราไซลีนและเบนซีนดีขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้วที่ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อเพราะเห็นราคาน้ำมันลง แต่ปลายไตรมาส 2/53 หรือต้นไตรมาส 3/53 ความต้องการเพิ่มขึ้นทำให้ราคาพาราไซลีนกลับมาดีขึ้น
ส่วนธุรกิจโรงกลั่นคาดว่าดีขึ้นในปีนี้คาดว่า GIM อยู่ที่ 5-6 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งดีกว่าปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 3 เหรียญ/บาร์เรล เพราะมีแนวโน้มโรงกลั่นมากในสหรัฐและยุโรปจะปิดกิจการจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยครึ่งปีแรกบริษัทมี GIM 5.56 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้น จึงคาดว่า GRM ในครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 5.50 เหรียญ/บาร์เรล
"เรายังเห็นว่าในครึ่งปีหลัง ยังมี potential ที่ดี น่าจะมีสัญญาณที่ดี เศรษฐกิจยุโรปเริ่มขยับ ส่วนอเมริกาเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมา ซึ่งขึ้นกับความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งอเมริกาถ้ายังใช้จ่ายได้ การใช้น้ำมันก็เยอะ ทางเรามองว่า ธุรกิจจะดีขึ้นได้หรือไม่ขึ้นกับเศรษฐกิจโลก" นายชายน้อย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 53 กำไรสุทธิของบริษัทจะต่ำกว่าปีก่อนแน่นอน เพราะปีที่แล้วเป็นปีที่ดีมากทั้งราคาพาราไซลีนและเบนซีน ทั้งนี้ใน 6 เดือนแรกปี 53 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.8 พันล้านบาท เทียบกับในงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6 พันล้านบาท
สำหรับการควบรวมกิจการกับ บมจ.ไออาร์ซีพี (IRPC) นายชายน้อย กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ได้เข้าไปตรวจสอบกรณีที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น IRPC (เดิมชื่อ ทีพีไอ) เข้ามาเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ฉะนั้น การควบรวมกิจการระหว่าง PTTAR กับ IRPC จึงชะลอออกไปก่อน จนกว่าจะได้ผลการวินิจฉัย แต่บริษัทยังไม่ได้ยกเลิกแผนงานดังกล่าว แต่ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการได้ทันภายในปีนี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี งานบางประเภทที่มีความร่วมมือกันและโครงการยูโร 4 ซึ่ง PTTAR ได้ดำเนินการไปกว่าครึ่งแล้วคาดว่าจะเสร็จในปลายปี 54 ขณะที่ IRPC กำลังพิจารณาเข้าร่วมโครงการกับบริษัท