(เพิ่มเติม) ศาลปกครองไม่รับฟ้องกรณีสหภาพ กสท.ระบุกทช.ไม่มีอำนาจประมูล 3G

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 8, 2010 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ศาลปกครองกลางไม่รับฟัองกรณีของสหภาพแรงงานฯ กสท.ยื่นฟ้องว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ไม่มีอำนาจให้ใบอนุญาต 3G เนื่องจากศาลเห็นว่าสหภาพแรงงานฯ ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง โดยเห็นว่าผู้ยื่นฟ้องควรจะเป็นบริษัท คือ บมจ.กสท โทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมทนายความอยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันตามกรอบกฎหมายกำหนด และพร้อมกันนี้ก็จะยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ด้วย

นอกจากนั้น ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ คณะกรรมการบริษัทจะมีการประชุม ซึ่งทางสหภาพฯ จะผลักดันเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณายื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยตรงด้วย เพราะหากมีการเปิดประมูล 3G ก็จะทำให้ กสท.เสียประโยชน์จำนวนมาก

สำหรับคดีนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท.เป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีสำนักงาน กทช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ กทช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่ว่าจะป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเกี่ยวกับการบริการคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมที่เป็นทรัพยากรของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะทางด้านการสื่อสารของชาติโดยรวม ทำให้ บมจ.กสท.โทรคมนาคม และผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย

โดยขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาให้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงพร้อมการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญปี 40 พร้อมขอให้ศาลยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ที่ประกาศเมื่อวันที่ 23 ก.ค.53 พร้อมขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

รวมทั้งขอให้ศาลปกครองกลางกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือห้ามกระทำการใดๆ เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้จะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวจากการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กล่าวอ้างว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีมีผลโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีอย่างไร แต่อ้างเพียงการทำหน้าที่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท.ที่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ บมจ.กสท โทรคมนาคม

ดังนั้น เมื่อปรากฎตามคำฟ้องว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ คือ การจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2(2551-2553) และการออกประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz รวมถึงการออกกฎ คำสั่ง และการกระทำอื่นๆ ในทางปกครองเป็นเหตุทำให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้รับความเสียหายที่มีผลโดยตรงต่อบริษัทเองนั้น กรณีที่เป็นการกล่าวอ้างความเสียหายที่มีผลต่อ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยตรง หากบริษัทได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 จริง บริษัทก็อาจใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

นายจำกัด ชุมพลวงศ์ ตุลาการศาลปกครอง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน กล่าวว่า เมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อสหภาพฯ ในฐานะผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองได้ ดังนั้น ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งความเห็นเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อคุ้มครองชั่วคราว จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ด้านนายนที ศุกลรัตน์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า กทช. พร้อมน้อมรับและปฎิบัติตามคำสั่งศาลในทุกเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม กทช.ยืนยันว่าการเปิดใบอนุญาต 3G จะดำเนินด้วยความโปร่งใส และภายใต้กรอบอำนาจที่ กทช. มี และเชื่อว่าการประมูลใบอนุญาตดังกล่าวจะเดินหน้าและเริ่มต้นการประมูลในวันที่ 20 ก.ย ไม่มีปัญหา และกรอบเวลาในการเปิดประมูลยังไม่เปลี่ยนแปลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ