ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BBL) ที่ BBB+ แนวโน้มมีเสถียรภาพ ซึ่งการจัดอันดับเครดิตของ BBL ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเครือข่ายธุรกิจในประเทศและภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการทำกำไรที่มีความยืดหยุ่น สถานะเงินกองทุนที่มั่นคง และฐานเงินฝากที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารอื่นในภูมิภาค แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะมีความอ่อนแอและมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การทำกำไรของ BBL ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของ BBL จะยังคงแข็งแกร่งโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ฟิทช์ได้มีการปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของประเทศไทยเป็น 7.2% ในปี 2553 และ 4.3% ในปี 2554
แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะยังคงเป็นจุดแข็งของ BBL โดยมีสัดส่วน 41% และ 28% ของสินเชื่อรวมตามลำดับ คาดว่าสินเชื่อรายย่อยซึ่งมีสัดส่วนเป็น 13% จะมีการเติบโตอย่างสูงในระยะปานกลาง นอกจากนี้ธนาคารยังได้ประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน ฮ่องกง สิงค์โปร์ และไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วน 18% ของสินเชื่อรวม
คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับคงที่ แม้ว่าสินเชื่อที่จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งแรกของปี 2553 (2.6% ของสินเชื่อ) สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553 ลดลงมาอยู่ที่ 55.1 พันล้านบาท (4.7% ของสินเชื่อรวม) จาก 55.6 พันล้านบาท (4.9%) ณ สิ้นปี 2552 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารอื่นในภูมิภาค เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2542 สำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ 71 พันล้าน หรือ 127.9% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553 ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว
นอกจากนี้ BBL ยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งเนื่องจากเครือข่ายการให้บริการเงินฝากที่มั่นคงและเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีจำนวนสาขามากที่สุด โดยมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนค่อนข้างน้อย BBL มีสถานะเงินกองทุนที่ยังคงแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.9% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 15.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 12.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553
เนื่องจากขนาดและความสำคัญของ BBL ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากมีความจำเป็น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวปัจจุบันอยู่สูงกว่าอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของประเทศอยู่ 1 อันดับและอยู่ในอันดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคาร และความสามารถในการรองรับผลกระทบจากปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของธนาคารที่ปรับตัวตัวอ่อนแอลงอย่างรุนแรง รวมทั้งการถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับไม่สูง (13% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553) และการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลในจำนวนที่จำกัด ทั้งนี้หากสถานะทางการเงินมีการปรับตัวอ่อนแอลง หรือมีการปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ในขณะเดียวกันการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์เทียบกับธนาคารอื่นในภูมิภาค และความสามารถในการรักษาระดับเงินกองทุนและสภาพคล่อง อาจมีผลในเชิงบวกต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน