KBANK-กรมพัฒนาธุรกิจฯ ร่วมสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ ปล่อยกู้ 3,000 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 29, 2010 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)จับมือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ลดข้อจำกัดการเข้าถึงเงินทุนและขาดความรู้ในการทำธุรกิจ แบบไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจสูง คาดปีนี้มีบริษัทผู้ให้สิทธิ์แฟรนไชส์เข้าร่วมโครงการอีก 10% ตั้งเป้าปล่อยกู้ 3,000 ล้านบาท

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันขยายตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยช่วง 3 ปีขยายตัวสูงกว่า 20% ต่อปี เพราะได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการใหม่(Start-Up)ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ

ดังนั้น ธนาคารจึงร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์กสิกรไทย (K-SME Franchise Credit) ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจสูง

ทั้งนี้ ธนาคารได้แบ่งการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ตามช่วงอายุธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่ 1-3 ปี

สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์มาก่อน โดยจะให้วงสินเชื่อสูงสุด 80% ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะมีลักษณะสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม คือ สินเชื่อแบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อแบบที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50% และสินเชื่อแบบลดหย่อนการผ่อนชำระขั้นต่ำ 18 เดือน ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการลดภาระ ด้วยการผ่อนชำระขั้นต่ำ 18 เดือนแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสามารถใช้บริการสินเชื่อแบบมีหลักประกัน ซึ่งจะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดตามมูลค่าหลักประกันได้ด้วย

ส่วนลูกค้าในกลุ่มที่เริ่มต้นธุรกิจมาแล้วระยะหนึ่ง คือ มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 1-3 ปี ที่ต้องการเงินทุนมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ปรับปรุงหรือตกแต่งร้านใหม่ สามารถเลือกใช้บริการสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อตกแต่งหรือขยายร้านได้ ด้วยวงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 1 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการด้วยวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) แบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสูงสุด 300,000 บาท

นายปกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เงื่อนไขในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์กสิกรไทย (K-SME Franchise Credit) ผู้ซื้อสิทธิ์ (Franchisee) จะต้องได้รับการผ่านการรับรองจากผู้ให้สิทธิ์ (Franchisor) ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20 ราย โดยธนาคารตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มอีก 40 ราย เป็น 60 ราย ซึ่งถือเป็นสัดส่วน 10% ของบริษัทแฟรนไชส์ทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าปล่อยกู้โครงการดังกล่าว 3,000 ล้านบาท

ด้านนายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 53 การขยายตัวของระบบแฟรนไชส์จะชะลอตัว แต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายยังคงมีอัตราการเพิ่มของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจปรากฏว่า ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยทั้งสิ้น 461 กิจการ เป็นแฟรนไชส์ไทย 433 กิจการ เป็นแฟรนไชส์ต่างประเทศ 28 กิจการ จำนวนสาขาประมาณ 33,729 สาขา มูลค่าตลาดรวมประมาณ 135,338 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มจำนวนธุรกิจเป็น 532 กิจการ จำนวนสาขาเป็น 40,500 สาขา ด้วยมูลค่าตลาดรวมที่ประมาณ 160,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ