(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวในประเทศของธนาคารเกียรตินาคินที่ BBB+(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 30, 2010 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวภายในประเทศของธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK) ที่ BBB+(tha) และความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะสั้นที่ F2(tha) และได้มีการทบทวนแนวโน้มเป็นเชิงบวกจากเดิมที่มีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการรักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะอ่อนแอลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มอันดับเครดิตที่ปรับเป็นบวก เนื่องจากฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์และผลกำไรจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานะเงินกองทุนจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตยังคงถูกจำกัดด้วยความสามารถในการระดมเงินฝากที่น้อยกว่ากว่าธนาคารขนาดใหญ่ และการที่มีพอร์ตสินเชื่อที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ฟิทช์มองว่าความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมีไม่มากนัก เนื่องจาก KK ไม่มีผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันที่แข็งแกร่งและเป็นธนาคารขนาดเล็ก

ผลประกอบการของ KK ในครึ่งแรกของปี 2553 ยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ โดยกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 61% เนื่องจากรายได้ที่สูงขึ้น กำไรจากการขายสินทรัพย์รอการขาย และรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นจากการขายประกันผ่านสาขาของธนาคาร ในขณะที่ธนาคารยังได้รับประโยชน์จาการปรับตัวลดลงของต้นทุนทางการเงิน ธนาคารคาดการณ์ว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2553 จะอยู่ในระดับที่สูงขึ้นที่ 10%-15% เทียบกับ 8% ในปี 2552 ขณะเดียวกันอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวสูงขึ้นมากมาอยู่ที่ 5.2% ในครึ่งแรกของปี 2553 จาก 4.9% ในปี 2552 ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการขยายสาขาและปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และหากต้นทุนทางการเงินมีการปรับตัวสูงขึ้นก็อาจมีผลต่อกำไรในระยะปานกลางเช่นกัน

คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงเหลือ 5.1 พันล้านบาท (5.4% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จาก 5.4 พันล้านบาท หรือ 6.2% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 71% ของสินเชื่อรวม ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ยังคงอ่อนแอโดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถึง 23% อย่างไรก็ตาม KK ได้เพิ่มการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับเดียวกันกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 78% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน

การจัดหาเงินทุนจากตลาดทุนได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่มีการออกตราสารหนี้ระยะสั้นจำนวน 3.4 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขณะที่เงินฝากลดลงมาอยู่ที่ 71 พันล้านบาท (68% ของแหล่งเงินทุน) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 133% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เทียบกับ 115% ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ แต่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับธนาคารขนาดเล็ก เงินทุนจากตลาดทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปของตั๋วแลกเงินระยะสั้นไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องปรับตัวสูงขึ้นในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวน อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมของ KK ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 15.4% และ16.0% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553 แต่อาจปรับตัวลดลงได้หากสินเชื่อมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง

ส่วนผลกระทบในทางบวกต่ออันดับเครดิตอาจเป็นไปได้ หากคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นและมีการกระจายแหล่งเงินทุนและธุรกิจมากขึ้น ในขณะเดียวกันหากคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยมิได้คาดหมาย และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ