บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ MW Brands Holdings SAS โดยผ่านการ อนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 เรียบร้อยแล้วนั้น คงเหลือแต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ Office of Fair Trading ประเทศอังกฤษเรื่องการควบรวมกิจการตามระเบียบการผูกขาดทางการค้า หรือ Antitrust เท่านั้น
ขณะนี้ บริษัทได้รับการยืนยันจาก Office of Fair Trading ของประเทศอังกฤษ ว่าผ่านระเบียบว่าด้วยเรื่องการควบรวมกิจการหรือ Anti-trust เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสุดท้ายสำหรับการปิดดีลการซื้อ MW Brands Holdings SAS ทำให้บริษัทมีความพร้อมทุกอย่าง เพราะได้ผ่านเงื่อนไขต่างๆ หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุมัติเข้าซื้อจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นการอนุมัติเพิ่มทุนและล่าสุดเรื่อง Anti-trust
ดังนั้น บริษัทคาดว่าการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับดีลนี้จะเสร็จได้ภายในสิ้นเดือน นี้
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่า การซื้อกิจการในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจของกลุ่มบริษัท โอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นตลาดอาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก โอกาสในการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าชั้นนำในยุโรป และโอกาสที่จะสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มบริษัท
สำหรับเป้าหมายที่บริษัทเคยตั้งไว้ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 55 นี้ เชื่อว่า หลังจากการรวมกันจะถึงเป้าได้ในปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนด โดย ณ วันนี้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายใหม่ที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 58 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง
นายธีรพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการเพิ่มทุนอีกว่า ในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมนั้น บริษัทจะจัดสรรหุ้นในสัดส่วน 20 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 50 บาท โดยได้มีการปิดสมุดทะเบียนไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาด ณ วันนั้น และมั่นใจว่า จะได้รับความสนใจการจองซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งนี้บริษัทจะเปิดให้จองหุ้นพร้อมกับชำระเงินในวันที่ 11-15 ต.ค.53 นี้
สำหรับในส่วนของการเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัดนั้น บริษัทได้มีการออก Road Show ตั้งแต่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา เพื่ออธิบายให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 29 ล้านหุ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาก โดยจะทำการ Book building ในวันที่ 18-20 ต.ค. ชำระเงินในวันที่ 21-22 ต.ค. และจะสามารถซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ได้ในวันที่ 29 ต.ค.53
อย่างไรก็ดี นายธีรพงศ์เชื่อว่า การเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะไม่มีผลต่อกำไรต่อหุ้นของบริษัท (EPS) และจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมตามหลักการ เพราะเมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจะทำให้หนี้ต่อทุนลดลง สำหรับโครงสร้างนี้จะมี Dilution เพียง 9% เท่านั้นสำหรับผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งไม่สูงมาก อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อมั่นว่า จากโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ในการควบรวมกันนี้ จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในเรื่องการเป็น Global Supply Chain โดยครอบคลุมไปตั้งแต่การจัดหาและจัดซื้อวัตถุดิบ สามารถเข้าถึงแหล่งจับปลาทูน่าหลักไม่ว่าจะเป็น มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ขณะเดียวกันในแง่ของฐานการผลิต จะทำให้บริษัทมีฐานการผลิตครอบคลุมทุกภูมิภาค เช่น เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกา อัฟริกา และยุโรป ซึ่งล้วนแต่เป็นภูมิภาคที่สำคัญสำหรับการผลิตปลาทูน่า
นอกจากนี้กลยุทธ์ทางด้านการตลาดที่สำคัญ คือ โอกาสในการขยายตลาดไปยังภูมิภาคยุโรปให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของตลาด โดยสัดส่วนของการกระจายตลาดใหม่จะเป็น ตลาดสหรัฐอเมริกา 38% ตลาดยุโรป 31% และตลาดเอเซียและอื่นๆ 31% ถือเป็นการสร้างความสมดุลในการกระจายตลาดที่ดี นอกจากนี้จะมีการแบ่งปันข้อมูลทางการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน ที่ต้องทำร่วมกับ MW Brands อีกมาก