โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) คาดการณ์แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/62 เติบโตโดดเด่น ขานรับอัตราใช้กำลังการผลิตโรงงานกระป๋องเพิ่มขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบลดลง หักล้างผลกระทบปรับขึ้นภาษีน้ำตาล หนุนอัตรากำไรขั้นต้นลุ้นแตะ 42.1% ผลักดันกำไรทั้งปี 62 และปี 63 เติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง และยังโดดเด่นมากที่สุดเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
พร้อมชูกลยุทธ์เชิงรุกขยายตลาด CLMV หนุนรายได้ส่งออกปี 63 คาดเติบโต 10% จากปีนี้ ขณะที่ในประเทศมีเป้าหมายแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในตลาดเป็นหลัก รวมถึงมีแผนออกสินค้าใหม่เพิ่ม 2-3 รายการ คาดหวังเติบโต 10-15% สูงกว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีการโตต่อปีเฉลี่ย 0-5%
ด้านผลประกอบการ ICUK ในประเทศอังกฤษ เชื่อผ่านพ้นจุดต่ำสุด หลังลดงบการตลาดลงตั้งเป้าลดขาดทุนจาก ICUK ไม่เกิน 10 ล้านปอนด์ จากปีนี้น่าจะขาดทุน 12 ล้านปอนด์
หุ้น CBG พักเที่ยงอยู่ที่ 84.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือ 0.90% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.50%
เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 123.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 107.00 ทิสโก้ ซื้อ 99.00 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ ซื้อ 113.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 83.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 95.00
นางสาวสุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของ CBG ในปี 62 และต่อเนื่องถึงปี 63 จะเติบโตทำสถิติสูงใหม่เป็นประวัติการณ์ เนื่องจากทิศทางผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องและดีกว่าที่เคยคาดการณ์ จากการใช้กำลังการผลิตโรงงานกระป๋องเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ต้นทุนวัตถุดิบปรับลดลงทั้งอลูมิเนียม และวัสดุหีบห่อ เข้ามาชดเชยกับผลกระทบการปรับขึ้นภาษีน้ำตาลตั้งแต่เดือน ต.ค.62 เป็นต้นมา ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นมาเป็น 42.1% จากในไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 41.3% เป็นการทำจุดสูงสุดใหม่ และเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากไตรมาส 4/61 อยู่ที่ 33.3%
เบื้องต้นคาดกำไรไตรมาส 4/62 จะอยู่ที่ 780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลักดันกำไรสุทธิทั้งปี 62 อยู่ที่ 2,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 114.4% จากปีก่อน
สำหรับในปี 63 CBG ตั้งเป้าเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นมาอยู่ที่ 43-44% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งการขายในประเทศและการส่งออก ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตโรงงานกระป๋องสูงขึ้นจาก 86% ในไตรมาส 3/62 คาดเพิ่มเป็น 90% ในไตรมาส 4/62 และจะเพิ่มขึ้นถึง 95-100% ในปี 63 ส่งผลให้กำลังการผลิตจะเดินหน้าเต็มที่ 1,000 ล้านกระป๋องต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ผลิตได้ 700 ล้านกระป๋องต่อปี ส่วนเกินอีกราว 100-200 ล้านกระป๋องจะซื้อจากผู้ผลิตภายนอก ขณะที่ด้านต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะราคาอลูมิเนียมที่เพิ่งปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะรับรู้ผลบวกได้เต็มปีในปี 63 รวมถึงต้นทุนวัสดุหีบห่อที่ลดลงด้วย
สำหรับโรงงานแก้วแม้ว่าในปีนี้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตราว 77% อยู่ที่ 1,000 ล้านขวดต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มได้อีก 300 ล้านขวด ล่าสุด CBG ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าภายนอก (OEM) ให้ผลิตขวดเบียร์ให้น่าจะช่วยเพิ่มการใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ในปี63 ส่งผลให้รายได้เติบโต สวนทางกับต้นทุนคงที่จึงได้ประโยชน์จาก Economies of Scale มากขึ้น
ส่วนผลประกอบการของ INTERCARABAO LIMITED (ICUK) ในประเทศอังกฤษ มองว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ภายหลังจากปรับลดงบการตลาดลงอย่างหนัก พร้อมกับตั้งเป้าลดขาดทุนจาก ICUK ไม่เกิน 10 ล้านปอนด์จากปีนี้น่าจะขาดทุนราว 12 ล้านปอนด์
นางสาวสุรีย์พร กล่าวอีกว่า CBG มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 50% และในประเทศ 50% ช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เบื้องต้นปี 63 ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไม่น้อยกว่า 20% จะเน้นรุกตลาด CLMV มากขึ้น โดยเฉพาะเมียนมาและเวียดนาม คาดรายได้จากส่งออกจะเติบโต 10% จากปีนี้ สำหรับในประเทศ CBG ตั้งเป้าเติบโต 10-15% จากปีนี้ ถือว่าค่อนข้าง Aggressive มาก เพราะสูงกว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีการโตต่อปีเฉลี่ย 0-5% นั่นหมายถึง CBG มีเป้าหมายแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในตลาดเป็นหลัก รวมถึงมีแผนออกสินค้าใหม่เพิ่ม 2-3 รายการ
"แม้ว่าตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงนี้จะทำให้เลือกหุ้นลงทุนยาก แต่หุ้น CBG นับเป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นเรื่องการเติบโตของผลประกอบการเข้ามาสนับสนุน เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่กำไรสุทธิในไตรมาส 4/62 คาดจะสามารถเติบโตทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนที่เป็นโลว์ซีซั่น หนุนให้กำไรทั้งปี 62 เติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่ และเชื่อว่าในปี 63 กำไรจะเติบโตทุบสถิติใหม่ต่อเนื่องเช่นกัน คาดว่ากำไรจะเติบโตประมาณ 23.4% เป็นบริษัทเดียวที่เติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่คาดเติบโต 19.8%
ส่วนด้าน Valuation ยังน่าสนใจมีอัพไซด์ สะท้อนจาก Forward P/E Ratio อยู่ที่ 27 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเทรดในอดีตอยู่ที่ 43 เท่า และยังต่ำกว่าหุ้นเครื่องดื่มทั่วโลกเทรดอยู่ที่ 35 เท่า รวมถึงเมื่อเทียบกับคู่แข่งหุ้น OSP ยังเทรดอยู่ที่ 30 เท่า จึงมองเป็นโอกาสเหมาะสมเข้าซื้อสะสมหุ้น CBG ในช่วงนี้"นางสาวสุรีย์พร กล่าว
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุบทวิเคราะห์ว่า แม้ว่ามุมมองฝ่ายวิจัยฯที่มีต่อหุ้น CBG จะอยู่ภายใต้สมมติฐานแบบ Conservative เพราะเป้าเติบโตทางธุรกิจสูงเกินไป และอาจทำไม่ได้ตามเป้า แต่จากประมาณการหุ้น CBG ยังมีอัพไซด์ที่น่าสนใจ โดยคาดว่ากำไรสุทธิในปี 63 จะเติบโตสูงถึง 28% เมื่อเทียบกับปีนี้ จึงยังคงแนะนำ"ซื้อ"ด้วยราคาเป้าหมาย 113 บาท
บทวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ทิศทางผลประกอบการ CBG กำลังก้าวสู่วัฏจักรการเติบโตรอบใหม่ตั้งแต่ปี62 เป็นต้นไป จึงยังเลือกให้หุ้น CBG เป็น Top Pick ของกลุ่ม Food&Beverage แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น Outperform ตลาดฯมากกว่า 34% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังมองว่าราคาหุ้นปัจจุบันมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้น ตามเป้าหมายรายได้ปี 63 โต 20% เมื่อเทียกับปีก่อนหน้า จากแผนเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และออกสินค้าใหม่ ต้นทุนวัตถุดิบลดลง เป็นปัจจัยสนับสนุนอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น