"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (18-22 พ.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (11-15 พ.ค.) SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มเกษตร เพิ่มขึ้นมากที่สุด 15.4% รองลงมาคือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 15% และสุดท้าย คือกลุ่มภาคการเงิน เพิ่มขึ้น 5.9%
แม้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ช่วงสั้น ตอบรับกับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ในทางกลับกันนักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดซ้ำของเชื้อโควิด-19 สะท้อนได้จากแรงขายหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะเข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอีกหรือไม่
เกาะติดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก พบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 4.7 ล้านราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมกว่า 310,000 ราย
ในขณะที่ประเทศสหรัฐยังคงพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นจำนวนมากกว่า 1,500,000 ราย รองลงมาคือประเทศสเปนและอันดับสามคือประเทศรัสเซีย ที่พบผู้ติดเชื้อใกล้เคียงกันกว่า 270,000 ราย
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์ในไทยเมื่อวันที่ 17 พ.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งสิ้น 3 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 3,028 ราย ส่วนผู้ที่รักษาหายแล้วมีจำนวน 2,856 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 56 ราย
ปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นเหตุผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในที่เฟส 2 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เช่น ลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23:00 น.ไปจนถึง 4:00 น. และอนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนดตั้งแต่ 10:00 น.ไปจนถึง 20:00 น.
ส่วนปัจจัยที่นักวิเคราะห์ได้ให้ความสำคัญและเฝ้าติดตามในสัปดาห์นี้ คือการรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2563 ของทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 พ.ค. เบื้องต้นนักวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสแรกจะพลิกกลับมาติดลบครั้งแรก และมีโอกาสติดลบต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง ซึ่งในทางทฎษฎีเมื่อ GDP ติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ไตรมาสจะนิยามเศรษฐกิจในช่วงนี้ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ เป็นที่น่าจับตาว่าจะอาจนำไปสู่การทบทวนปรับลดประมาณการ GDP ของไทยในปี 2563 รอบใหม่หรือไม่
พร้อมกันนี้ ยังต้องติดตามผลการประชุมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 20 พ.ค. ล่าสุดนักวิเคราะห์หลายรายประเมินถึงโอกาสที่คณะกรรมการ กนง. จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ประเมินภาพรวม SET INDEX ในสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับฐานช่วงสั้น มีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,250-1,230 จุด เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยซื้อขายอยู่ในโซนที่ค่อนข้างแพง บ่งชี้จากค่าเฉลี่ย P/E ของตลาดหุ้นไทยในวันนี้ซื้อขายกันเกือบ 20 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวที่ 15.9 เท่า ส่วนหนึ่งเกิดจากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรก ที่รายงานออกมาต่ำกว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดมากกว่า 20% เป็นเหตุผลให้ต้องปรับลดประมาณการภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และความเสี่ยงของสงครามการค้าที่อาจกลับมาสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกได้อีกครั้ง
"ผลกระทบโควิด-19 ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรตลาด ทำให้วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ในโซนค่อนข้างแพง เทรดกันบน P/E บวก 1.5 SD หากดัชนีฯปรับขึ้นไปไกลกว่านี้อีกคือบวก 2 SD โซนนั้นต้องบอกว่าแพงมากๆ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีในตอนนี้คือนักเล่นสั้น เมื่อดัชนีหลุด 1,273 จุด ต้องชะลอการเก็งกำไรไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงดัชนีฯปรับฐาน ส่วนนักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ตอาจต้องลดพอร์ตเหลือถือหุ้นประมาณ 30% แล้วค่อบจับจังหวะเข้าไปซื้อสะสมรอบใหม่"นายกรภัทร กล่าว
ด้านธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.90-32.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญในประเทศ ได้แก่ ข้อมูล GDP ไตรมาส 1/63 ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. และตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน เม.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. และบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย. นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามการรายงานดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงสัญญาณที่สะท้อนความเสี่ยงของการระบาดรอบสอง หลังการเปิดเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
https://youtu.be/Bxm6WYdS1I4