ดัชนีตลาดหุ้นไทยไต่ระดับกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้อีกครั้ง แม้จะมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยดีขึ้นเป็นลำดับ แต่แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงถดถอย และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ยังอยู่ในโซนติดลบ เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดหุ้นไทยวันนี้มีมูลค่าที่แพงเกินไปแล้วหรือไม่ ขณะที่นักลงทุนต้องปรับกลยุทธ์การเลือกหุ้นอย่างไร เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีในภาวะวิกฤติเช่นนี้
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากปรับตัวลดลงอย่างหนักไปแตะจุดต่ำสุดรอบนี้ที่ระดับ 969 จุดเมื่อกลางเดือน มี.ค. เบื้องต้นประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ผ่านพ้นตลาดขาลง หรือ "Bear market" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเฟส 2 เป็นปัจจัยบวกกระตุ้นบรรยากาศลงทุนกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามความคาดหวังการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทำให้ล่าสุดฝ่ายวิจัยฯขยับกรอบแนวรับ-แนวต้านระยะสั้นขึ้นมาเป็น 1,280-1,350 จุดจากกรอบเดิมที่ 1,200-1,300 จุด
นักวิเคราะห์ ประเมินต่อว่า เมื่อวิเคราะห์ Valuation ของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ต้องบอกว่าค่อนข้างอยู่ในโซนแพงมาก บ่งชี้ได้จากค่าเฉลี่ย P/E เมื่อปลายเดือน เม.ย. อยู่ที่ 17.65 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย P/E ของตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 13.26 เท่า ส่วนหนึ่งเกิดจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มย่ำแย่ต่อเนื่องในไตรมาส 2/63 คาดเป็นจุดต่ำสุดในรอบปีจากผลกระทบการปิดล็อกดาวน์ประเทศที่รัฐบาลประกาศเริ่มต้นเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ต่อเนื่องถึงปลายเดือน พ.ค. แต่แนวโน้มสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ทำให้การปรับตัวลดลงของดัชนีฯมีกรอบที่จำกัด ขณะเดียวกันการปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ยังมีกรอบที่จำกัดเช่นกัน แต่หากในกรณีเชื้อโควิด-19 ไม่เกิดการแพร่ระบาดซ้ำรอบสองมีความเป็นไปได้ว่าอัพไซด์ของดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไต่ระดับขึ้นไปทดสอบ 1,400-1,500 จุดได้เช่นกัน
"อัพไซด์ของหุ้นไทยเวลานี้ถ้าไม่เกิดระบาดซ้ำ 1,400-1,500 จุดก็ยังมีความเป็นไปได้ แต่จะให้ขึ้นไปถึง 1,700-1,800 จุดเหมือนกับปีที่ผ่านมาคงเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่แน่นอนรออยู่อีกมาก ประกอบด้วยโอกาสเกิดการแพร่ระบาดซ้ำรอบสอง ประเทศต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะหนักกว่าในครั้งแรก ปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติหลังจากเข้าสู่ฤดูฝนต้องระวังปัญหาน้ำท่วมที่จะฉุดรายได้เกษตรกร และติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐว่าจะช่วยเยียวยาและสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และสุดท้ายคือปัจจัยต่างประเทศคือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เชื่อว่ามีผลกระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุนอีกครั้ง หลังจากเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ในช่วงปลายปีนี้"นางสาววิลาสินี กล่าว
สำหรับกลยุทธ์เลือกหุ้นในภาวะวิกฤติต้องมีคุณสมบัติเป็น "Defensive Stock" การจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มีรายได้สม่ำเสมอไม่อิงกับภาวะเศรษฐกิจ และราคาหุ้นในกระดานยังไม่ได้ปรับตัวสูงเกินไป ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลในอัตราสูงและเป็นหลุมหลบภัยชั้นดีในยามที่ตลาดหุ้นเกิดเหตุการณ์เชิงลบที่ไม่คาดคิด ฝ่ายวิจัยฯแนะนำหุ้น TTW (Bloomberg Consensus 14.45 บาท) ,RATCH (Bloomberg Consensus 74.41 บาท) ,DIF (Bloomberg Consensus 17.47 บาท)
บทวิจัยฯ บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินแนวโน้ม SET INDEX ในช่วงที่เหลือของปีมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 1,300-790 จุด โดยแนวโน้มช่วงไตรมาส 2/63 ยังเป็นภาพของการค้นหาฐานหรือทดสอบจุดต่ำสุดเดิม เป็นเหตุผลให้ภาพรวมของ SET INDEX มีความเสี่ยงขาลงมากกว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้น แนะนำน้ำหนักการลงทุนหุ้น/กองทุนตราสารทุนในระดับต่ำราว 30-40% ของพอร์ตลงทุน ให้ถือเงินสด/กองทุน Money Market Fund ราว 30% และที่เหลือกระจายในตราสารหนี้ระดับลงทุน (Investment Grade) 20% และทองคำ 10%
สำหรับคุณสมบัติของหุ้นที่ควรลงทุนในเวลานี้คือ 1)กลุ่มที่ภาพในระยะ 3-5 ปีมีความเสี่ยงต่อการถูก Disruption จำกัด หรือ มีความสามารถในการแข่งขันสูง 2) ฐานะการเงินแข็งแกร่งมีหนี้ต่ำ หรือ บริษัทที่มีกระแสเงินสดรับมั่นคงแม้อาจมีภาระหนี้บ้าง และ 3) เป็นธุรกิจที่พร้อมฟื้นตัวไวกว่าอุตสาหกรรม หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แนะนำให้ใช้กลยุทธ์ DCA อย่างสม่ำเสมอเพื่อระยะยาว และซื้อเพิ่มน้ำหนักอย่างมีนัย กรณี SET แกว่งลงสู่กรอบสะสมเชิงพื้นฐานกรณีเศรษฐกิจหดตัว คือ ระดับดัชนี 960-870 จุด เป็นระดับค่า ERP 5.84%-6.49% หรือ (-0.5SD ถึง -1SD ของ PER) ทั้งนี้ หุ้นเด่นใน Theme DCA -Sustainable Business ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร(ADVANC) กลุ่มท่องเที่ยว(AOT) กลุ่มค้าปลีก(CPALL) กลุ่มอาหาร(CPF) กลุ่มขนส่ง(BEM), กลุ่มโรงพยาบาล(BDMS), กลุ่มปรับปรุงบ้าน(HMPRO) และกลุ่ม Cashless(KTC) ผสานหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันต่ำ(TASCO)
https://youtu.be/QY5Wpf5DpcI