"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (25-29 พ.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (18-22 พ.ค.) SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มเกษตร เพิ่มขึ้นมากที่สุด 15.2% รองลงมาคือกลุ่มภาคการเงิน เพิ่มขึ้น 6.4% และสุดท้าย คือกลุ่มการท่องเที่ยวและโรงแรม เพิ่มขึ้น 5.9%
แม้ว่าช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยกลับมาเผชิญกับแรงขายอีกครั้ง สอดคล้องกับภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่กลับมากังวลการยกระดับความตึงเครียดของ 2 ประเทศมหาอำนาจระหว่าง "จีน-สหรัฐฯ" ที่อาจก่อให้เกิดเป็นสงครามการค้ารอบใหม่ เนื่องจากวุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายที่อาจจะสร้างผลกระทบให้บริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต้องถูกถอดออกจากตลาด ขณะเดียวกัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ออกมาแสดงท่าทีพร้อมตอบโต้ประเทศจีน หากออกกฎหมายความมั่นคงในประเทศฮ่องกงเพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง
เป็นเหตุผลให้ในสัปดาห์นี้นักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามการแสดงออกทางเกมการเมืองของ 2 ประเทศมหาอำนาจ เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกมากน้อยแค่ไหน
เกาะติดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก พบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,400,000 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมกว่า 340,000 ราย
ขณะที่ประเทศโซนอเมริกาใต้ ได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดใหม่ต่อจากประเทศในโซนยุโรป โดยเฉพาะประเทศบราซิลที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนติดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศสหรัฐฯที่ยังคงรั้งอันดับหนึ่งพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกเกือบ 1,700,000 ราย
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยส่งสัญญาณดีขึ้น รายงานโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และนับเป็นครั้งที่ 4 ในเดือน พ.ค. ที่ตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 3,040 ราย ส่วนผู้ที่รักษาหายแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,921 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมคงที่จำนวน 56 ราย
เป็นเหตุผลให้รัฐบาลของไทยเตรียมพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนของรายละเอียดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิ.ย. ขณะที่แนวทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 3 เบื้องต้นอาจพิจารณาปรับลดระยะเวลาเคอร์ฟิวจากปัจจุบันกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 23.00 น.-04.00 น. เป็นต้น
สำหรับปัจจัยสำคัญที่นักวิเคราะห์เฝ้าติดตามในสัปดาห์นี้ คือเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด หรือ (พ.ร.ก.) เงินกู้ 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในวันที่ 27-31 พ.ค.นี้ หากผ่านพ้นไปได้ด้วยดีจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศได้ในช่วงสั้น
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ ประเมินภาพรวม SET INDEX ในสัปดาห์นี้ยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น มีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านแรกที่ 1,317 จุด และถัดไปที่ 1,337 จุด แม้ว่าปลายสัปดาห์ก่อน SET INDEX จะเผชิญกับแรงขายสลับออกมา แต่นักลงทุนในประเทศมีความเชื่อมั่นกับแนวโน้มผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายไปแล้ว เป็นเหตุผลให้รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในส่วนที่เหลือ สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
"เชื่อว่าการปรับตัวลงรอบนี้ของ SET INDEX เป็นแค่ระยะสั้น เพราะยังมองเห็นโอกาสปรับตัวขึ้น เหตุผลจาก wealth effect นักลงทุนในประเทศส่วนใหญ่มีกำไรจากตลาดหุ้นหลังปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ข่าวร้ายมีจำกัด แต่ก็ต้องระวังตลาดหุ้นไทยเทรดกันบน P/E สูงเพราะคาดหวังกับผลประกอบการจะฟื้นตัวในช่วงต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีความเสี่ยงใหม่เข้ามากระทบความเชื่อมั่นอาจทำให้เกิดแรงขายออกมาได้เช่นกัน ตามเทคนิคแล้วถ้าดัชนีฯหลุด 1,275 จุดก็ต้องใช้ความระวังมากขึ้น นอกจากนั้นต้องติดตามปัจจุบันต่างประเทศคือท่าทีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เหมือนว่าจะทวีความตึงเครียดเรื่อยๆ อาจปะทุเป็นสงครามการค้ารอบใหม่ เป็นปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้"นายถนอมศักดิ์ กล่าว
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย.63 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ภาวะการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯสำคัญได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.63 ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา Core PCE Price Index ในเดือนเม.ย.63 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/63 ของสหรัฐฯ(รายงานครั้งที่ 2) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ วันศุกร์ที่ 22 พ.ค.63 เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 31.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับระดับ 32.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในวันศุกร์ก่อนหน้า
https://youtu.be/P9n8HfwHFW4