"Weekly Highlight" (14-18 ก.ย.) ชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. ขย่มหุ้น "บิ๊กแคป" "KTZ" ตีกราฟหาต่ำสุด ชี้เป้า "พลังงาน" เสี่ยงโดนเท

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 14, 2020 08:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (14-18 ก.ย.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14 กันยายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (8-11 ก.ย.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,279.96 จุด ลดลง 2.4% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มของใช้ส่วนบุคคลและเวชภัณฑ์ ลดลง 5.8% รองลงมาคือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ลดลง 5.7% และสุดท้ายคือกลุ่มสื่อและบันเทิง ลดลง 5.1%

สำหรับภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ยังคงอยู่ในทิศทางขาลง หลังจากช่วงสัปดาห์ก่อนดัชนีฯปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด นับเป็นสัญญาณเตือนของแรงขายในระยะสั้นที่กำลังจะเข้ามาในระลอกใหม่ ส่งผลต่อมุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ที่ทยอยกันตีเส้นกราฟทางเทคนิคค้นหาจุดต่ำสุดของการปรับฐานของ SET INDEX ในครั้งนี้

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนในสัปดาห์นี้ คงต้องยกให้กับประเด็นความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ หลังจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนเตรียมนัดชุมนุมใหญ่กันในวันที่ 19 กันยายน ขณะที่ปัจจัยลบดังกล่าวจะกลายเป็นส่วนซ้ำเติมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ทรุดตัวลงหนักกว่าเดิมหรือไม่ หลังจากได้เผชิญกับความบอบช้ำมาแล้วจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ลุกลามเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก

ส่วนปัจจัยหลักในต่างประเทศ ที่ต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นประเด็นการยกระดับความขัดแย้งของ 2 ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะฟากฝั่งของสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะต้องจับสัญญาณท่าทีการยกระดับในด้านต่างๆเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเรียกคะแนนความนิยม ตัดสินชี้ชะตาว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อไปอีก 4 ปีได้หรือไม่ ในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ประเมิน SET INDEX ในรอบสัปดาห์นี้ยังคงเป็นทิศทางขาลง โดยมุ่งน้ำหนักไปที่ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง จึงเป็นที่มาของการวางแนวรับไว้หลายระดับตั้งแต่ 1,280 จุด ไปจนถึง 1,266 จุด ขณะเดียวกันก็มีโอกาสปรับฐานลงไปทดสอบระดับ 1,250 จุดได้เช่นกัน ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนควรหลีกเลี่ยงหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่ถูกกดดันจากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/63 และอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายของแรงขายในระยะสั้นได้เช่นกัน

"ตลาดหุ้นไทยยังคงไร้ข่าวดีกระตุ้นเชื่อมั่นผู้ลงทุนระยะสั้น ทำให้ขาดแรงซื้อคืนกลับเข้ามา ขณะที่หากมีข่าวร้ายเข้ามากระทบความเชื่อมั่นผู้ลงทุนก็พร้อมเทขายหุ้นออกมาทันที โดยเฉพาะประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่สัปดาห์นี้จะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่พร้อมใจกันขายหุ้นออกมาเร็วขึ้น"นายถนอมศักดิ์ กล่าว

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ (14-18 ก.ย.) อยู่ที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (15-16 ก.ย) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (16-17 ก.ย.) และธนาคารกลางอังกฤษ (17 ก.ย.) ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ สถานการณ์โควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตจากเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจจากเฟดฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ของจีน และผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

https://youtu.be/lFer1Wc4hqQ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ