สวัสดีครับ คุณผู้ฟัง "Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (8-9 ธ.ค.) จะพาคุณผู้ฟังมาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (30 พ.ย.-4 ธ.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,449.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.84% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 6.20% รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 5.69% และสุดท้ายคือกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร เพิ่มขึ้น 4.96%
สำหรับภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ แม้ว่าจะเปิดซื้อขายเพียง 2 วันทำการเท่านั้น แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ต่างยังคงให้น้ำหนักไปในทิศทางเชิงบวกจากปัจจัยสนับสนุนแรงซื้อของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ ที่มีแนวโน้มขนเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลการรายงานยอดซื้อสุทธิของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติตลอดเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท สอดคล้องกับในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา(1-4 ธ.ค.) พบว่ากลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติยังทยอยซื้อสุทธิเป็นมูลค่ามากกว่า 3,700 ล้านบาท
และแม้ว่าความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดหุ้นไทยจะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ในมุมของปัจจัยเสี่ยงที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เริ่มหันมาเฝ้าระวังกันมากขึ้น นั้นคือความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยอาจเกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกระลอก หลังจากมีกระแสข่าวพบว่ามีบุคคลติดเชื้อโควิด-19 ได้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านชายแดนไทยและเมียนมาด้วยช่องทางธรรมชาติ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่าแนวทางปฎิบัติของรัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่จนต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศในรอบที่สอง
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหากไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงกรณีเลวร้ายการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยแล้ว ภาพรวมปัจจัยแวดล้อมต่างประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะความคาดหวังต่อการเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นของรัฐบาลหลายประเทศ สอดรับกับความคืบหน้าการใช้วัคซีนต้านไวรัส ที่เตรียมนำมาใช้จริงในเร็ววันนี้
นายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล ประเมินภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์นี้มีโอกาสลุ้นขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,454 จุด และด้วยภาพรวมบรรยากาศการลงทุนตลอดทั้งเดือนธันวาคมที่ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก่อนสิ้นปี 2563 ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะฝ่าด่านทะยานสู่ 1,500 จุดได้อีกครั้ง
"วัคซีนต้านไวรัสที่กำลังนำมาใช้จริง เชื่อว่าหากรัฐบาลหลายประเทศเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่อย่างเข้มข้น ตัวเลขเศรษฐกิจจะกลับมาพุ่งขึ้นอย่างโดดเด่น ดังนั้นหากสัปดาห์นี้ตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศออกมายังไม่ดีขึ้นจะทำให้ผู้ลงทุนมีความคาดหวังต่อการใช้มาตรการดังกล่าวมากขึ้นช่วยผลักดันบรรยากาศการลงทุนไปในทิศทางเป็นบวกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่จะส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงให้ปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องที่ไหลมาจากทั่วโลก"นายธวัชชัย กล่าว
ด้านบทวิจัยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้กำหนดแนวรับที่ 1,430 และ 1,415 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,465 และ 1,485 จุดตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ,ประเด็นการเมืองของไทย ,การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ตลอดจนประเด็น Brexit ,ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย. ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/63 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือน พ.ย. ของจีน
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ประเมินปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการดูแลเงินบาทระยะที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย.ที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนธ.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป และการประชุม EU Summit และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือน พ.ย. ด้วยเช่นกัน
"เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย โดยเงินดอลลาร์ฯเผชิญแรงขายท่ามกลางความหวังต่อการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องที่สะท้อนจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ISMภาคบริการเดือนพ.ย. ที่ออกมาดีน้อยกว่าที่ตลาดคาดก็เป็นปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน"บทวิจัยฯ ระบุ
https://youtu.be/-jyPw6NBMJw