นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารและ บริษัทย่อย ก่อนการสอบทานสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.53 ธนาคารมีรายได้รวม 5.24 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 894 ล้านบาท เป็นการพลิกจากผลขาดทุนสุทธิจำนวน 41 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน หรือปรับตัวดีขึ้นจำนวน 935 ล้านบาท
และสำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.53 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 180 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 366 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2/53
“ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 สะท้อนทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและสะท้อนความพยายามในส่วนของธนาคารเองที่ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรและระบบภายในธนาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญผลประกอบการที่เข้มแข็งนี้ แสดงถึงการเติบโตที่มั่นคงและต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ตอกย้ำศักยภาพของธนาคารที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทั้งนี้ ธนาคารก็ยังมีภารกิจที่จะต้องเดินหน้าปรับปรุงต่อเนื่องในอีกหลายด้าน เช่น การเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม การลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ เป็นต้น" นายสุภัค กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารมีรายได้รวม สำหรับงวด 9 เดือนปี 53 จำนวน 5.24 พันล้านบาท ลดลงจำนวน 99.2 ล้านบาท หรือ 1.8% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่ 5.34 พันล้านบาท อันเป็นผลจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 207.6 ล้านบาท หรือ 12% เนื่องจากกำไรจากเงินลงทุนลดลง
อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 108.3 ล้านบาท จาก 3.6 พันล้านบาทเป็น 3.7 พันล้านบาท ในขณะที่กำไรจากตราสารอนุพันธ์เพื่อค้าเพิ่มขึ้นจากการไถ่ถอนเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงในไตรมาสที่ 2/53 รวมทั้งกำไรจากรายการพิเศษคือ การขายอาคารสำนักงานใหญ่ที่สาทร และการขาย บลจ.บีที (BTAM) ตลอดจนการขายหุ้นในบริษัทเวิลด์คลาส เรนท์ อะ คาร์ จำกัด
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารลดลง 305 ล้านบาท หรือ 7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 52 เนื่องจากในงวดนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นและภาระผูกพันนอกงบดุลลดลง ค่าใช้จ่ายเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากลดลงตามยอดเงินฝากที่ลดลง และการขาดทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายที่ลดลงเช่นกัน แม้ว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มสูงขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สำหรับงวด 9 เดือนของปี 53 อยู่ที่ 75% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปี 52 ที่ 80% อันเป็นผลจากประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น
เงินให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคาร (รวมบริษัทบริหารสินทรัพย์สาทร จำกัด - STAMC) ณ วันที่ 30 ก.ย.53 อยู่ที่ 94.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 4/52 ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อ SME อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชี ธนาคารได้มีการจัดประเภทเงินลงทุนในบริษัทย่อยใหม่เป็นกลุ่มสินทรัพย์ถือไว้เพื่อขาย ทำให้เงินให้สินเชื่อที่รายงานในงบการเงินรวมเพิ่มขึ้นเพียง 7% ยอดเงินฝากและตั๋วแลกเงินลดลงเล็กน้อยเป็น 96.5 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/53 จาก 97.4 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 4/52 จากฐานเงินฝากและเงินให้สินเชื่อดังกล่าว ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของกลุ่มธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 98.3% ขณะที่ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเฉพาะธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน) อยู่ที่ 91.5%
จากการดำเนินการตามนโยบายของธนาคารในการเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 3/53 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Gross NPL) มียอดคงค้างจำนวน 8.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (อัตราส่วน NPL) 8.7% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจาก ณ สิ้นไตรมาส 4/52 ที่มีอัตราส่วน NPL 14.9% ทั้งนี้ หากรวมเงินให้สินเชื่อของบริษัทย่อย (STAMC) ในงบการเงินรวม จะทำให้อัตราส่วน NPL ของธนาคารอยู่ในระดับ 11.7%
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อ (Loan Loss Charge) สำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.53 อยู่ที่ 0.7% เทียบกับ 1.8% ของงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพและการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Loan Loss Coverage) ณ วันที่ 30 ก.ย.53 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 60.4% ตามนโยบายของธนาคารในการทยอยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง (คำนวณตามวิธี Basel II) ของธนาคารอยู่ที่ 6.7% และ 12.4% ตามลำดับ ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด