บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) คงเป้าหมายประมาณการปี 53 ตามเดิม โดยการเติบโตของรายได้จากการ ให้บริการไม่รวม IC อยู่ที่ระดับ 5% แม้ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 7.3% อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริการด้านข้อมูล โดยรายได้จากการให้บริการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงในไตรมาสถัดไป จากฐานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงไตรมาส 4/52
อัตราการใช้งานในประเทศคาดว่ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆในช่วงไตรมาส 4 อัตราเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 100% และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวน Net SIM ที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตในพื้นที่ต่างจังหวัด การแข่งขันในตลาดการให้บริการทางเสียงอยู่ในระดับไม่รุนแรงนัก ขณะที่ปริมาณการใช้งานบริการข้ามแดนอัตโนมัติส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเฉลิมฉลองในสิ้นปี อย่างไรก็ดี บริการโทรออกต่างประเทศคาดว่าจะเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 4/52
ประมาณการเติบโตของรายได้จากบริการข้อมูลยังคงอยู่ที่ระดับ 25-30% แม้ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้จากบริการข้อมูลจะเติบโตถึง 33% คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC ก็ตามบริการด้านข้อมูลยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของรายได้ โดยเฉพาะการใช้งานอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ที่เติบโตสูงขึ้นผ่านทั้งการใช้สมาร์ทโฟนและดาต้าการ์ด ตลาดการบริการด้านข้อมูลโดยเฉพาะการใช้งานเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตรายบุคคลมีศักยภาพในการเติบโตสูง จากการที่บริษัทเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้งานรวมไปถึงจำนวนการใช้งานต่อผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ การใช้งานอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นในตลาดต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เปิดให้บริการ 3G-900MHz โดยมาจากปัจจัยที่สำคัญคือกระแสสังคมเสมือนที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง, จำนวนโทรศัพท์พื้นฐานที่มีจำกัดทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตถูกจำ กัด, ราคาเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงจำนวนสมาร์ทโฟนที่เพิ่มสูงขึ้น
รายรับสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่ายปรับประมาณการสูงขึ้นที่ระดับ 500 ถึง 600 ล้านบาท จากเดิมที่ 100 ถึง 200 ล้านบาท การปรับเพิ่มขึ้นมาจากการเริ่มใช้ข้อตกลงการเขื่อมโยงโครงข่ายระหว่างเอไอเอสกับกสท-ฮัทช์ ที่อัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายชั่วคราว 0.5 บาทต่อนาที รายรับสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่ายย้อนหลังจาก กสท./ฮัทช์ นับจากเดือน เม.ย.-มิ.ย.53 คิดเป็นเงิน 177 ล้านบาท ทำให้รายรับสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ เอไอเอสมีรายรับสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่ายเท่ากับ 408 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปริมาณรายรับสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่สูงนี้อาจลดลงได้ในอนาคตจากการปรับโปรโมชั่นของคู่แข่ง
ประมาณการกระแสเงินสด (EBITDA-CAPEX) เติบโตที่ระดับ 18%เหมือนเดิม จากรายได้ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและประมาณการเงินลงทุนยังคงเท่ากับ 6,200 ล้านบาทจากระดับ 9,900 ล้านบาทในปี 52 แม้เงินลงทุนในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้จะยังต่ำเพียง 3,500 ล้านบาท แต่คาดว่าเงินลงทุนในไตรมาส 4/53 จะเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกำลังความสามารถในการรองรับการใช้งานด้านข้อมูล เพื่อรองรับการเจริญเติบโตที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเป็นปกติในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี
ระดับ EBITDA margin ประมาณการคงอยู่ที่ระดับ 45% แม้ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 47.1% เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่คาดว่าจะสูงขึ้นในไตรมาส 4/53 นี้ยังมาจากการเปิดตัว iPhone ด้วย ต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ คาดว่าจะเป็นไปตามประมาณการที่ได้เคยแสดงไว้ โดยบริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพในระดับที่เทียบเคียงกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน
ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการขายสมาร์ทโฟน, iPhone, แบล็คเบอร์รี่ และดาต้าการ์ดได้มากขึ้น ทั้งนี้ จากวิสัยทัศน์ “Ecosystem" ซึ่งนำเสนออุปกรณ์ชั้นนำให้ลูกค้าเลือก โดยเอไอเอสได้ร่วมมือกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้ลูกค้า จากความพยายามนี้เองทำให้อัตรากำไรจากการขายในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงเป็น 15.5% จาก6.7% ในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี อัตรากำไรจากการขายมีแนวโน้มที่จะลดลงจากการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ เป็นธุรกิจสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัทในการสร้างการเจริญเติบโตและสนับสนุนการให้บริการต่างๆให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์และเข้าถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่